ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาล ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. มีแนวโน้มในการ ต่ออายุ ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รอบที่ 4 เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดอีก 1 เดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนก.ค. นี้ เหลือเพียง ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ เคาะในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.นี้เท่านั้น ว่าเห็นชอบตามข้อเสนอนี้หรือไม่
ข้อเสนอต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว เป็นมติจากที่ประชุม คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ฐานเศรษฐกิจ สังเคราะห์เหตุผลของการมีมติต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน รอบที่ 4 ตามที่เลขาสมช.ให้สัมภาษณ์ ดังนี้
- เกณฑ์การพิจารณา ดูในทุกมิติ ความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมายและสาธารณสุข
- กิจกรรม/กิจการที่ได้รับการคลายล็อกในระยะที่ 5 มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดซ้ำ
- หากไม่มี พรก.ฉุกเฉิน ต้องใช้กฎหมายถึง 5 ฉบับมาแทนที่ แต่ไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่า
- พรก.ฉุกเฉินเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันโควิดตั้งแต่แรกคือควบคุมไม่ให้มีการนำโรคจากต่างประเทศเข้ามา
- ยืนยันการต่อ ไม่มีนัยทางการเมืองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต
- สถานการณ์โลกมีความน่าเป็นห่วง
การ ต่อ พรก.ฉุกเฉิน สิ่งที่จะยังคงอยู่ต่อภายใต้อำนาจตามกฎหมายคือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือ ศบค. โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศบค. ยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารสถานการณ์ ซึ่งต่างจากข้อเสนอการให้ไปใช้ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ ตามอำนาจปกติ ที่จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น การต่อพรก.ฉุกเฉิน หากศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบตามข้อเสนอของที่ประชุมเฉพาะกิจ คำสั่งนายกรัฐมนตรี คำสั่งของครม. ที่ออกภายใต้พรก.ฉุกเฉินจะยังคงอยู่ดังเดิมเกือบทั้งหมด
ดังเช่นเดียวกับการต่อ พรก.ฉุกเฉิน รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. – 30 มิ.ย. 63 ซึ่งหลังจากครม.เห็นชอบต่อพรก.ฉุกเฉิน ตามที่ศบค.เสนอ สิ่งที่ตามมาคือ การออกประกาศจำนวน 4 ฉบับ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกาศทั้ง 4 ฉบับ มีความเกี่ยวเนื่องกันในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ซึ่งทุกฉบับลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่
1. ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2)
2. ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ
3. ประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ
4. ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2)
ดังนั้นสรุปโดยง่าย คือ การต่อพรก.ฉุกเฉิน รอบที่ 4 หมายความว่า ศูนย์ “ศบค.” ก็ยังคงอยู่ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจเต็มบริหารจัดการกฎหมายฉบับของกระทรวงต่างๆได้เบ็ดเสร็จ 100% ดังเดิม