นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) ยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีปัญหาการแพร่ระบาดมากที่สุดใน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ความร่วมมือของทุกฝ่ายและประชาชนทำให้ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยเพิ่มแล้ว และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็รักษาหายแล้ว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นทางจังหวัดจึงได้เริ่มโครงการสำคัญต่างๆ
ล่าสุด จังหวัดยะลาร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดแหล่งรับซื้อและกระจายทุเรียนฤดูกาลปี 2563 โดยเริ่มต้นซื้อเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันแรก และจะดำเนินการไปจนสิ้นฤดูกาลด้วยราคารับซื้อที่ 100 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกกว่าราคาในรับซื้อในตลาด ด้วยหวังว่าจะดึงราคาในพื้นที่ให้สูงขึ้นด้วยโดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตาม ศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้ หรือ โครงการทุเรียนคุณภาพที่ทางจังหวัดได้ร่วมกับปิดทองหลังพระฯมาตั้งแต่ปี 2561
นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของยะลา มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยภูมิอากาศที่เหมาะสมมีการปลูกพันธุ์ที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นหมอนทอง ยาวลิ้นจี่ และมูซานคิงส์ในอำเภอเบตง แต่ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนหมอนทอง ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะการปลูกของเกษตรกรจะเป็นการปล่อยให้ออกตามธรรมชาติแล้วขายยกสวน ขาดการดูแลทำให้เกิดปัญหาเช่นหนอนทุเรียน ขายไม่ได้ราคาเหมือนกับทุเรียนทางภาคตะวันออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โดยปริมาณการปลูกทุเรียนในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของยะลามีพื้นที่ยืนต้น 73,890 ไร่ พื้นที่ให้ผล 53,621 ไร่ ผลผลิตรวมปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 53,031 ตัน เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ให้ผลผลิตประมาณ 42,000 ตัน เนื่องจากเกษตรกรลดการปลูกพืชอื่นแล้วหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นตามความต้องการของตลาด
ผู้ว่าราชการ จังหวัดยะลา กล่าวว่า ความร่วมมือกับปิดทองหลังพระฯ เป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยผลักดันยะลาให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นเมืองทุเรียน หรือทุเรียนซิตี้ โดยการเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนคุณภาพควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ มีตลาดต่างประเทศรองรับ ซึ่งในช่วงที่มีปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาด แต่คนในพื้นที่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของทางปิดทองหลังพระฯ ในการเข้ามาดูแลและให้คำแนะนำเกษตรกรตามปกติเพื่อเตรียมผลผลิตที่มีคุณภาพที่จะออกมาตามฤดูกาล
“การทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯ เป็นการนำศาสตร์พระราชามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ให้คนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการใช้ทุเรียนซึ่งเป็นพืชของท้องถิ่นเป็นตัวนำ โดยปิดทองหลังพระและเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเติมความรู้ให้ผู้ร่วมโครงการอย่างเป็นเป็นระบบ มีคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพใทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำจัดวัชพืชสวนทุเรียน การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลง มีเจ้าหน้าที่และอาสาทุเรียนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ช่วยติดตามในทุกช่วงการผลิต และมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ช่วยดูแลเรื่องการตลาดไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่”นายชัยสิทธิ์ กล่าว
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากโครงการนำร่องในจังหวัดยะลาในปี 2561 ผู้ร่วมโครงการ 18 ราย ผลิต 33.4 ตัน สร้างรายได้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ 2.3 ล้านล้านบาท เริ่มขยายพื้นที่ในปี 2562 ไปยังอำเภอต่างๆ ในจ.นราธิวาสและปัตตานี จน ณ ปี 2563 ครอบคลุม 14 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 625 ราย ต้นทุเรียนตามโครงการ 29,201 ต้น คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 1,778 ตัน
จะทยอยเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิ.ย. และมากที่สุดในเดือนก.ค. และสิ้นสุดในเดือนก.ย. จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุดคือยะลา 1,640 ตัน นราธิวาส 88 ตัน และปัตตานี 50 ตัน โดย 85% เป็นเกรด AB ซึ่งเป็นมาตรฐานส่งออก และหนอนเป็น 0% โดยราคารับซื้อทุเรียนเกรด AB อยู่ที่ 100 บาทต่อกก. และเกรดต่ำกว่าก็ราคาลดหลั่นลงมา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในโครงการมากกว่า 160 ล้านบาทซึ่งสูงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 แยกเป็นยะลา 147 ล้านบาท นราธิวาส 8 ล้านบาท และปัตตานี 5 ล้านบาท
“การเปิดรับซื้อทุเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มีเกษตรกรจากทั้ง 3 จังหวัดเข้ามาขายแล้ว 31 ราย ผลผลิตทุเรียนรวมทั้งสิ้น 9,998 กิโลกรัม เป็นเงินรวม 853,360 บาท แยกเป็นเกรดAB ซึ่งเป็นมาตรการส่งออกรับซื้อ 100 บาทต่อกก. รวม 4,930 กก. เป็นเงิน 493,000 บาท เกรดซี 80 บาทต่อกก. จำนวน 2,814 กก. เป็นเงิน 225,120 บาท ส่วนที่เหลือเป็นทุเรียนตกไซส์ที่รับปิดทองฯ รับซื้อที่ราคา 60 บาทต่อกก. ซึ่งทั้งรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดในพื้นที่”นายการันย์ กล่าว
นายการันย์ กล่าวว่า ส่วนของการบริหารจัดการเพื่อส่งออกนั้น ปิดทองหลังพระฯ จะร่วมกับจังหวัดยะลารวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด คัดแยกก่อนจะส่งไปศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จังหวัดชุมพร ทางบริษัทดำเนินการขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังและส่งไปขึ้นฝั่งที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนต่อไป
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มโครงการในปี 2561 ยังมีความกังวลว่าการทำงานในพื้นที่จะเป็นไปไม่ได้ แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของทรัพยากรและคน ที่ให้โครงการเดินมาได้อย่างดี ซึ่วเวลานี้จีนปิดเมืองมานาน คนก็จะอยากบริโภคทุเรียนปีนี้ราคาเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่เพราะทุเรียนได้รับการทุเรียนให้ได้คุณภาพดีซึ่งจะได้ราคาดี เชื่อว่าถ้ามีการดูแลให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปทุเรียนใต้จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมากโดยเฉพาะในส่วนที่จะพัฒนาไปสู่การส่งออก โดยทุเรียนตามโครงการของปิดทองหลังพระฯ ทางซีพีจะรับซื้อไว้ทั้งหมด ซึ่งปีนี้บริษัทได้ให้โควตากับโครงการทั้งหมด 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละประมาณ 18 ตัน หรือรวมประมาณ 1,800 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ซีพีส่งออกอยู่ประมาณ 250 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 4,500ตัน
ทั้งนี้ ความต้องการทุเรียนในตลาดจีนยังสูงมาก เห็นได้จากการปลูกทุเรียนในไทยที่ให้ผลิตผลิตรวมทั้งประมาณราว 900,000 ตัน ส่งออกอยู่ 85% เกือบทั้งหมดก็ส่งออกไปจีน ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
“ทุเรียนไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนจีนมาก ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่ายอดขายคงตกและคงไม่ได้ราคาเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่จะทำให้กำลังซื้อคนน้อยลง แต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม การที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านและคิดดูว่าคนจีนมากขนาดไหนที่เขาไม่ได้ออกไปเที่ยวและใช้จ่ายเงิน เขายังเหลือเงินที่จะมาซื้อของเหล่านี้ ยอดคำสั่งทุเรียนจึงสูงขึ้นมา โดยยอดส่งออกโดยรวม 4 เดือนแรกโตขึ้น 30-40% หลักๆ คือมาจากจีน จึงถือเป็นโอกาสทองของคนปลูกทุเรียนสำหรับปีนี้ ซึ่งถ้าตลาดปีนี้ ปีหน้าโตดับเบิ้ลที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะโตดับเบิ้ลเหมือนกัน”นายจิมกิตติ กล่าว
นายจอมกิตติ กล่าวว่า ส่วนที่ซีพีได้เข้ามาเสริมโครงการของปิดทองหลังพระฯ คือการนำความรู้เกี่ยวกับตลาดมาบอกคนในพื้นที่ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลบริษัทพบว่าคนจีนนิยมทานทุเรียนหมอนทองซึ่งเป็นผลผลิตหลักหรือคิดเป็นประมาณ 80% ของทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ข้อมูลนี้ทำให้เห็นโอกาสที่จะพัฒนาทุเรียนในให้ได้คุณภาพส่งออก เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผลผลิตทุเรียนปีละประมาณ 900,000 ตัน โดยทุเรียนทั่วภาคใต้ให้ผลผลิตประมาณ 40% ของผลผลิตทั้งประเทศ พื้นที่ให้ผลผลิตมากที่สุดของภาคใต้อยู่ในจ.ชุมพร ขณะที่ผลผลิตใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ผลผลิตรวมกันอยู่ประมาณ 7-8%ของผลผลิตทั้งประเทศ
นายอาแว แบรอ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเห็นเพื่อนเกษตรกรคนอื่นเข้าร่วมโครงการแล้วได้รับการถ่ายทอดความรู้ และเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างรายได้ให้สูงขึ้น จากเดิมที่ปลูกทุเรียนแล้วให้โตไปตามธรรมชาติ และตัดไปขายเองแบบคละกันทั้งลูกสวยและไม่สวย ไม่มีการดูแลและพัฒนาคุณภาพ ไม่มีการแยกเกรดทำให้ได้ราคาไม่ดี
ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการไม่ได้เข้าร่วมหมดทั้งสวนแต่ทยอยเข้าร่วม โดยปี 2562 เข้าร่วม 42 ต้น ปีนี้ 53 ต้น และจะทยอยเพิ่มขึ้น โดยการปฏิบัติตามขึ้นตอนที่จะมีอาสาทุเรียนเข้ามาติดตามและให้คำแนะนำทั้งในเรื่องระบบน้ำ การใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลงทำให้ปีนี้ได้ทุเรียนเกรดส่งออกในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา