"คลายล็อก" เฟส5 ปมหนักใจ จะคุมโรค "คนเมา" ได้อย่างไร

27 มิ.ย. 2563 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2563 | 12:11 น.

ศบค.ชุดเล็ก จากบางหน่วยงาน กังวลกับการ "คลายล็อก เฟส5" ในส่วนของผับ บาร์ คาราโอเกะ เพราะสงสัยว่า มาตรการที่เข้มงวดจะปฏิบัติได้หรือไม่ เมื่อนักเที่ยวเมาขาดสติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้(29มิ.ย.63) ก็จะได้ทราบรายละเอียดกันแล้วว่า มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 5 หรือ คลายล็อก เฟส5 จะมีกิจกรรม/กิจการ กลุ่มสีแดง ที่มีความเสี่ยงสูงมาก กลับมาเปิดทำการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ มีกิจการ/กิจกรรมใดบ้าง

โดยศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพรุ่งนี้ จะเป็นไปตามที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงร่างมาตรการคลายล็อกเฟส 5 เอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ที่ระบุ 5 กิจการ/กิจกรรมได้แก่

1.การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา โดยจะมีการเปิดทั้งหมดทั้งของรัฐ-เอกชนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ 

2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ เปิดได้ทุกแห่งโดยไม่จำกัดเวลา ให้กลับไปในรูปแบบเดิมทั้งหมด 

3. สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ 

4. ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต

5. สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด โรงน้ำชา

แต่ว่ากันว่าในบรรดา 5 กิจกรรม/กิจการ ดังกล่าว สถานที่ที่ “ศบค.ชุดเล็ก” จากบางหน่วยงานหนักใจ กับการคลายล็อกรอบนี้ คือ ผับ บาร์ คาราโอเกะ 

โดยมีรายงานข่าวว่า จุดที่ศบค.จากบางหน่วยงานหนักใจเพราะ ผับ-บาร์-คาราโอเกะ เป็นกิจการที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันตามปกติในคนหมู่มากในร้านเดียว  แม้ว่ามีมาตรการควบคุมเข้มสารพัด ทั้งเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 24.00 น. มีระยะยืน-นั่ง 1 เมตร จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่มากกว่า 4 ตารางเมตร /คน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น 

ผู้ที่จะไปใช้บริการทุกคนต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่โดยแอปพลิเคชันไทยชนะ มีการคัดกรองเรื่องอายุ การวัดอุณหภูมิร่างกาย อาการทางเดินหายใจ งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ทั้งโปรโมชั่น ลดราคาขายพ่วง โฆษณาโดยพนักงานเชียร์เบียร์ รวมทั้งต้องไม่ยินยอมให้ลูกค้านำสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค 

ให้นั่ง-ยืนเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน งดนั่งร้องเพลง เต้น หรือยินยอมให้มีการเต้นกับลูกค้า งดการเต้นนอกพื้นที่ บริเวณโต๊ะที่นั่ง หลีกเลี่ยงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบของเหยือก ถ้วย หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน และบังคับให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ของรัฐ เพื่อกำกับติดตาม โดยต้องบันทึกข้อมูลไว้มากกว่า 1 เดือน และมีระบบพื้นที่รอคิวห่างกันมากกว่า 1 เมตร 

"แม้จะมีมาตรการดังกล่าวแต่ก็หนักใจกับนักเที่ยว เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้วจะละเลย ลืมตัว หรือเมาขาดสติ จนไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคก็เป็นไปได้"

\"คลายล็อก\" เฟส5 ปมหนักใจ จะคุมโรค \"คนเมา\" ได้อย่างไร

ประกอบกับข้อมูลของ นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ชี้แจงความคืบหน้าการใช้งานแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ว่า ผลการประเมินของประชาชนที่เข้ารับบริการในกิจการ/กิจกรรม 24 กิจการ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในแต่ละด้าน ได้แก่ การทำความสะอาดร้านค้า สวมหน้ากาก จุดบริการล้างมือ การเว้นระยะห่าง พบว่า 5 กิจการ/กิจกรรมที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) คือ 

1.ตลาด ตลาดนัด ตลาดค้าส่ง หาบเร่ แผงลอย มีคะแนนเฉลี่ย 4.86 คะแนน 

2.ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ 4.91 คะแนน 

3.การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 4.91 คะแนน 

4.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า 4.91 คะแนน 

และ 5.ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.92 คะแนน 

“จะเห็นว่าคะแนนลดลงเมื่อเทียบการช่วงแรกของการผ่อนคลายมาตรการ จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ต้องตระหนักและปฏิบัติตามแนวทางที่ ศบค.กำหนด ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ การเว้นระยะห่าง การลดความแออัด และการลงทะเบียนเข้า-ออก ผ่านไทยชนะ เพราะเมื่อหย่อนยานลงไป การเปิดประเทศหรือผ่อนคลายในระยะต่อไปจะกลายเป็นข้อกังขาถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของประเทศไทยได้”

นายแพทย์พลวรรธน์กล่าวต่อว่า สำหรับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 นั้น จะมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง จึงขอยืนยันว่าการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันไทยชนะยิ่งมีความจำเป็น เพราะเมื่อเกิดการระบาดจะช่วยในการติดตามควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี โดยจะติดต่อตรงส่วนตัวไปยังผู้ที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ที่พบการระบาด ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ย้ำว่าข้อมูลใช้เพื่อการควบคุมการระบาดของโควิด 19 เท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องข้อความสแปมไปยังโทรศัพท์ของผู้ใช้งานระบบ iOS ขณะนี้ ได้ประสานเจ้าของระบบดำเนินการแก้ไขแล้ว และอยู่ระหว่างติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง