ชะตากรรม “4 กุมาร” ขึ้นอยู่กับ “นายกฯตู่” 

01 ก.ค. 2563 | 11:50 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3588 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค.63 โดย... ว.เชิงดอย

 

ชะตากรรม “4 กุมาร” ขึ้นอยู่กับ “นายกฯตู่” 

     +++ โฉมหน้ากรรมการบริหาร “พลังประชารัฐ” ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ให้สังคมแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นไปตามโผ ไม่ว่าจะเป็น นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค

     +++ ส่วนกรรมการบริหารพรรคอีก 23 คน ได้แก่ 1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 4.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 7. นายวิรัช รัตนเศรษฐ 8.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 9.นายสุชาติ ชมกลิ่น 10.นายอิทธิพล คุณปลื้ม 11.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 12.นายสุพล ฟองงาม 13.นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 14.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 15.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 16.นายนิโรธ สุนทรเลขา 17.นายไผ่ ลิกค์ 18.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 19.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 20.นายสุรชาติ ศรีบุศกร21.นายนิพันธ์ ศิริธร 22.นางประภาพร อัศวเหม 23.นายสกลธี ภัททิยกุล

     +++ “ผู้บริหารพลังประชารัฐ” ชุดใหม่นี้ ไม่ชื่อ “4 กุมาร” อยู่ร่วมทีมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น อุตตม สาวนายน รมว.คลัง อดีตหัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ อดีตรองหัวหน้าพรรค และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ อดีตกรรมการบริหารพรรค

     +++ รูปการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้อดไม่ได้ที่หลายคนจะนึกถึงสุภาษิตที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ที่มีความหมายในทำนอง หลังจากเสร็จสงครามก็ให้ฆ่าขุนศึก ฆ่าแม่ทัพทิ้งเสีย... หรือ การละทิ้ง ปล่อยปล่ะ ละเลย ไม่เลี้ยงดู ไม่รู้จักให้รางวัล ไม่มีความระลึกนึกถึง แก่บุคคลที่ได้ช่วยเหลือตนเอง ที่เคยทำงานให้ เมื่อหมดประโยชน์หรือภารกิจงานนั้นๆ แล้ว... หรือ พอหมดประโยชน์ไม่จำเป็น ก็ไม่ดูแล ซ้ำผลักไส สิ่งที่เคยทำมาก็หมดความหมาย... มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ  

     +++ ขณะนี้ วันนี้ ทั้ง “4 กุมาร” ยังคงเป็นสมาชิกพลังประชารัฐอยู่ แต่ไม่นานเกินรอ สักวันคงได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค ตัดขาดความสัมพันธ์ในทางนิตินัยกับพลังประชารัฐ ส่วนตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ที่ทั้ง “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์” และอาจจะรวมถึง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะยังคงอยู่ใน “รัฐบาลลุงตู่” หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ “นายกรัฐมนตรี” แต่เพียงผู้เดียวว่าจะยัง “ใช้งาน” อยู่อีกต่อไปหรือไม่ หรือ จะเลือกใช้บางคนต่อไป เลิกใช้บางคน ก็ต้องรอการตัดสินใจของ “นายกฯลุงตู่” ต่อไป    

     +++ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างความเป็นพรรคการเมืองเต็มตัวแล้ว สำหรับ“พรรคกล้า” เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมก่อตั้งได้ยื่นเอกสารขอจดตั้งพรรคต่อ กกต. โดยมี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรค และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นเลขาธิการพรรค ขั้นตอนตามกฎหมายนับแต่นี้ “พรรคกล้า” จะสามารถเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคทั่วประเทศได้

     +++ สำหรับ “พรรคกล้า” ประกาศเจตนารมณ์ว่า ต้องการการเมืองแนวใหม่ นักการเมืองพันธุ์ใหม่ ที่มีความกล้าที่จะลงมือทำ ลงมือรื้อระบบที่ล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ ระบบการเมือง ระบบยุติธรรม หรือระบบเศรษฐกิจ ประเทศไทยวันนี้ต้องการคนที่มีความรู้ความตั้งใจ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความเป็นมืออาชีพ มาช่วยคิดและลงมือทำ ช่วยเหลือประชาชน และสร้างความก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง “พรรคกล้า” คือ Party as a Platform ของคนมีของ มีความคิดสร้างสรรค์ ที่อยากจะขับเคลื่อนประเทศ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งในเชิงบวก …ขอเอาใจช่วยให้ “พรรคกล้า” เป็นพรรควิถีใหม่ หรือ New Normal ที่เป็นความหวังของคนไทย อย่าให้เป็นวิถีเก่า หรือ Old Normal เหมือนบางพรรคก็แล้วกัน

     +++ หันไปดูปัญหาใน บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) ที่ยังบานปลายไม่หยุด จากปัญหา “เยียวยาคลื่น 2600” จน สุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงาน ต้องเดินสายไปยื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงาน คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาห กิจ หรือ สคร. 2.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และ 3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พลเดช เขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท และ พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ประธานกรรมการ บมจ.อสมท ที่ใช้อำนาจโดยไม่ผ่านมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท เสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง (ยอดเยียวยาจาก กสทช. รวม 3,235 ล้านบาท) โดย พิมพา วภักดิ์เพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บอกว่า ตลอดมาหวังว่าจะให้หน่วยงานในการกำกับดูแลใช้จ่ายเงินอย่างโปร่งใส ซึ่งกรณีนี้แปลกกว่ากรณีที่เคยมาร้องเรียน สตง. เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่ร้องเรียนการใช้เงิน ไม่โปร่งใส แต่กรณี “บมจ.อสมท” เป็นเรื่องในเชิงนโยบายของผู้บริหาร โดยจะเร่งตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความจริงปรากฏ ขณะที่ ป.ป.ช. โดย วราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ รักษาการแทนผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ที่รับเรื่องร้องเรียนบอกว่า จะส่งดำเนินการตามกระบวนการให้เร็วที่สุด ...ไม่รู้ว่างานนี้จะมีใครต้อง “ติดคุก” บ้างหรือไม่...