รศ. ดร. จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โดย นักศึกษาปริญญาตรี ที่ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” แอพพลิเคชันแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ณ สถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำใน 62 วินาที ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนของการสืบสวน เนื่องจากในกระบวนการการตรวจสอบตามปกติ จะใช้เวลานานถึง 30 วัน ผ่านการเก็บวัตถุพยานอย่าง “ลูกกระสุนปืน” ไปตรวจสอบตำหนิร่องเกลียวสันเกลียวที่เกิดจากกลไกการทำงานของปืน ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และเมื่อผลออกมาแล้ว จึงจะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เพื่อทำการสืบสวนและสรุปสำนวนคดีต่อไป
แอพฯ ดังกล่าว เป็นการนำ AI เข้ามาช่วยในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนในตรวจสอบ คือ นำลูกกระสุนที่ได้จากที่เกิดเหตุ ใส่ลงไปในเครื่องมือที่มีมอเตอร์ที่ถูกควบคุมด้วยระบบฮาร์ดแวร์ จากนั้นใช้สมาร์ตโฟนถ่ายภาพตำหนิ “ร่องเกลียว-สันเกลียว” ที่เกิดขึ้นบนลูกกระสุนปืน ผ่านแอพพลิเคชันจำแนกหัวกระสุนปืน โดยมอเตอร์ของเครื่องมือจะทำงานด้วยการหมุน 360 องศา เพื่อเก็บภาพแบบพาโนรามา ภายใน 62 วินาที จากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์และแสดงผลออกมาให้เห็นว่า ลูกกระสุน ถูกยิงมาจากปืนยี่ห้อใด ทั้งนี้ ระบบ AI ในงานวิจัยดังกล่าว ได้ผ่านการเก็บตัวอย่างของลูกกระสุนทั้งหมด 898 ลูก จากปืนที่มีสถิติการก่อคดีสูงที่สุด 8 ยี่ห้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจาก นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นผลให้ผลลัพธ์ของงานวิจัย แม่นยำและถูกต้องสูงถึง 91-98% (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อปืนที่ใช้ยิง)
อย่างไรก็ดี แอพฯ “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” อยู่ในขั้นตอนของการนำไปทดลองใช้งานจริง โดยจะต้องใช้งานควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลแบบเดิม เพื่อให้เกิดความถูกต้องสูงที่สุด ซึ่งแอพฯ ดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สืบสวน ทราบยี่ห้อของปืนที่ใช้ในการก่อคดี และสามารถจำกัดขอบเขตในการสืบสวน ตลอดจนติดตามตัวคนร้ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในอนาคต เตรียมต่อยอดงานวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถระบุขนาดของปืนได้มากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยในตอนนี้เก็บตัวอย่างไปเพียงขนาดเดียวคือ 9 มม. หรืออาจจะสืบค้นได้ว่าเคยมีประวัติการก่อคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทย มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยที่ 30,000 – 40,000 คดีต่อปี
สำหรับงานวิจัย “ระบบตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” ถือเป็นครั้งแรกของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Access ซึ่งอยู่ใน Quartile ที่ 1 ของการจัดอันดับวารสารของ Scientific Journal Ranking (SJR) อีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยเหลืองานทางด้านกระบวนการยุติธรรมได้