เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อ รับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกัน ให้เป็นคู่ชีวิต และเพื่อให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี หากร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องนี้ มีผลบังคับใช้ ไทยก็จะเป็นประเทศที่ 30 ในโลก ที่มีกฎหมายรับรอง การสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน หรือ same-sex marriage
ก่อนหน้าประเทศไทยนั้น ประเทศล่าสุดที่เพิ่งมีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา คือ คอสตาริกา ซึ่งเป็นประเทศแรกในอเมริกากลาง และถือเป็นประเทศที่ 29 ในโลก “ขอให้ความเห็นอกเห็นใจและความรัก เป็นเข็มทิศนำพาเราก้าวไปข้างหน้าและก่อร่างสร้างประเทศซึ่งมีพื้นที่ยืนสำหรับทุก ๆคน” นายคาร์ลอส อัลวาราโด เคซาดา ประธานาธิบดีคอสตาริกา โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวหลังจากที่กฎหมายผ่านสภา ก่อนหน้านั้นมีประเทศอะไรบ้าง Business Insider ได้รวบรวมไว้ ดังนี้
เนเธอร์แลนด์ สร้างประวัติศาสตร์ “ประเทศแรกในโลก” ปี 2544
ประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายรับรองคู่สมรสเพศเดียวกันคือ เนเธอร์แลนด์ ดินแดนกังหันลม กฎหมายเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถ สมรส หย่า และรับบุตรบุญธรรม ต่อมาในปี 2546 เบลเยี่ยม เป็นประเทศที่สอง ที่มีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันออกมา โดยก่อนหน้านั้นในปี 2541 รัฐสภาเบลเยี่ยมได้เริ่มเสนอให้สิทธิอย่างมีขอบเขตจำกัดแก่คู่รักเพศเดียวกัน เช่นการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต (registered partnerships)
ปี 2548 รัฐสภา แคนาดา เป็นประเทศที่สามในโลกที่ผ่านร่างกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันทั่วประเทศ หลังจากที่เริ่มมีการรับรองในระดับจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2542 ให้สิทธิแก่ชาวเกย์และเลสเบียนสามารถแต่งงานโดยได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ตามกฎหมายเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป แต่รายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นกระทั่งมีกฎหมายที่ครอบคลุมทั้งประเทศในปี 2548 และต่อมาในปีเดียวกันนั้น สเปน ก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันออกมา ให้การรับรองและให้สิทธิแก่ทุกคู่สมรสเพศเดียวกัน
แอฟริกาใต้ ตามมาเป็นประเทศที่ 5 ในปี 2549 เมื่อศาลสูงตัดสินว่า กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสที่เคยมีมาในอดีตขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งรับรองสิทธิอันเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน รัฐสภาก็รับลูกต่อเนื่องด้วยการผ่านกฎหมายฉบับใหม่รับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน แต่ก็มีข้อยกเว้นที่เปิดช่องให้สถาบันทางศาสนาและเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิเสธที่จะ “ทำพิธี” เกี่ยวกับงานสมรสให้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน
ปี 2551 นอร์เวย์ ตามมาเป็นประเทศที่ 6 โดยประเดิมเดือนมกราคม ประกาศให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงาน รับบุตรบุญธรรม หรือมีบุตรหลอดแก้ว ได้ตามกฎหมาย ต่อมาในปี 2552 สวีเดน ตามมาติด ๆ โดยสภาได้ลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันด้วยคะแนนสนับสนุนล้นหลาม 261 ต่อ 22 (งดออกเสียง 16 เสียง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถล่มยับ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่ตอบโจทย์ "สมรสเท่าเทียม"
ครม.เคาะ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้
ไอซ์แลนด์ นายกฯเลสเบียนแต่งงานหลังกม.มีผลบังคับใช้
ในปี 2553 รัฐสภา ไอซ์แลนด์ มีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่างกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน และทันใดที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โจฮันนา ซิกูร์ดาร์ดอททีร์ นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ก็ใช้สิทธิ์นั้นแต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกันของเธอ คือ โจนินา ลีโอดอททีร์ โลกยุคใหม่บันทึกไว้ว่า โจฮันนาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไอซ์แลนด์ เป็นผู้นำรายแรกของโลกที่ยอมรับว่าตนเองเป็นหญิงรักหญิง (เลสเบียน)
ถัดมาในปีเดียวกันนั้น โปรตุเกส เป็นประเทศที่ 9 ในโลกที่สภาให้การรับรองกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน ซึ่งตอนแรกถูกทักท้วงโดยประธานาธิบดี ที่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาดูว่าเรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ และสุดท้ายในเดือนเม.ย. 2553 ศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสตัดสินว่า กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด
ปี 2553 เช่นกัน ที่ อาร์เจนตินา ผ่านร่างกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันและมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่มีกฎหมายดังกล่าว
ต่อมาในปี 2555 ประเทศ เดนมาร์ก มีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันออกมาบังคับใช้หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเธอที่2 ทรงมีพระบรมราชานุญาตเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
ปี 2556 ประเทศ อุรุกวัย มีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันออกมาบังคับใช้ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น มีกฎหมายยินยอมให้คู่เกย์และเลสเบียน สามารถใช้สิทธิ์ในการรับบุตรบุญธรรม
ปีเดียวกันนั้น ประวัติศาสตร์โลกจารึกไว้ว่า นิวซีแลนด์ เป็นประเทศแรกในเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีกฎหมายรับรองคู่สมรสเพศเดียวกัน โดยสภามีมติ 77 ต่อ 44 เสียงผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ก่อนสิ้นปี 2556 ฝรั่งเศส และ บราซิล เป็นอีกสองประเทศในโลกที่ได้ใช้กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน
เมื่อเข้าสู่ปี 2557 อังกฤษ และ เวลส์ ก็เป็นสองประเทศแรกในสหราชอาณาจักรที่ผ่านกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน และหลังจากนั้น สกอตแลนด์ ก็ตามมาติดๆ รวมทั้ง ฟินแลนด์
ลักเซมเบิร์กก็มีนายกฯ ชายรักชาย
ปี 2558 ลักเซมเบิร์ก ก็ร่วมเป็นอีกประเทศในโลก ที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันและให้สิทธิ์พวกเขาในการรับบุตรบุญธรรม กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายซาเวียร์ เบตเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กในขณะนั้น โดยภายในไม่กี่เดือนหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซาเวียร์ นายกฯชายรักชาย ก็ประกาศแต่งงานกับคู่รักของเขาที่คบหากันมายาวนาน
ปี 2558 เช่นเดียวกัน ที่ ไอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่ ทำประชามติ ให้การรับรองกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน โดยผลจากการทำประชามติออกมาว่า 62% สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า มีชาวไอร์แลนด์นอกประเทศจำนวนหลายพันคนเดินทางกลับประเทศเพื่อมาร่วมลงประชามติในครั้งนั้น
ปีเดียวกันนั้น กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันของตัวเองออกมาบังคับใช้ ตามหลังเดนมาร์กที่ใช้ล่วงหน้าไปแล้วในปี 2555
สหรัฐอเมริกา เพิ่งมีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันระดับประเทศในปี 2558
สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพ เพิ่งมีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันระดับรัฐบาลกลางในปี 2558 ก่อนหน้านั้น มีเพียง 37 มลรัฐจากทั้งหมด 50 มลรัฐ บวกกับดิสทริค ออฟ โคลัมเบีย (District of Columbia) ที่มีกฎหมายดังกล่าว
ต่อมาในปี 2559 โคลอมเบีย เป็นประเทศที่ 4 ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกัน ถัดมาในปี 2560 เยอรมนี เป็นประเทศที่ 15 ในภาคพื้นยุโรปที่กฎหมายรับรองให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันและได้สิทธิต่าง ๆ เฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป ข่าวระบุว่า หนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ คือนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
และปีเดียวกันนั้น ประเทศ มอลตา ซึ่งเป็นประเทศเกาะในทะเลเมดิเตอเรเนียน ก็ผ่านกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันแม้จะถูกคัดค้านโดยศาสนจักรคาธอลิก ตามมาด้วยประเทศ ออสเตรเลีย ที่กฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันผ่านการลงมติในปี 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2561
ไต้หวัน ประเทศแรกในเอเชีย
ไต้หวัน เป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่สภาผ่านกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ถัดมาในวันที่ 12 มิ.ย. ปีเดียวกัน เอกวาดอร์ ก็เป็นประเทศลำดับต่อมา (ลำดับที่ 28) หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
และล่าสุดก่อนความเคลื่อนไหวของประเทศไทย คือ คอสตาริกา เป็นประเทศที่ 29 ในโลกที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันออกมาแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563
ข้อมูลอ้างอิง
The 29 countries around the world where same-sex marriage is legal