นักดูดาวและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างกำลังเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ยากที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตนี้ เมื่อ “ดาวหาง นีโอไวส์” (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 เคลื่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบเกือบ 7,000 ปี ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้
จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
ดาวหาง นีโอไวส์ เป็น ดาวหาง คาบยาวที่มีหางที่เห็นได้ชัดถึง 2 แฉก โดยจะมีหาง 2 ส่วน หางส่วนบน เรียกว่า "หางไอออน" มีความยาวมากกว่าหางส่วนล่างแต่จะสว่างน้อยกว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สที่อยู่รอบดาวหางแล้วแตกตัวออกเป็นไอออน เนื่องจากได้รับพลังงานจากลมสุริยะ ส่งผลให้เกิดการเรืองแสงเป็นแนวยาวออกมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE) ใกล้โลก ครั้งเดียวในรอบกว่า 6000 ปี
หางส่วนล่างจะมีความฟุ้ง สะท้อนรับกับแสงของดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่า "หางฝุ่น" ซึ่งเกิดจากอนุภาคฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากนิวเคลียสขณะที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ปรากฏเป็นแถบโค้งสว่างไปในทิศทางเดียวกับการโคจร
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ ดาวหาง นีโอไวส์ คือ ประมาณวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า
ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่ ดาวหาง เข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้
เช่นเดียวกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยที่แนะนำการสังเกตดาวหางนีโอไวส์ในวันที่ 23 ก.ค. ว่า หากสามารถมองเห็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้อย่างชัดเจนก็มีโอกาสจะเห็นดาวหางได้ แนะนำให้มองหาดาวหางโดยการดูตำแหน่งดาวหางเทียบกับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ดาวหางมีลักษณะแตกต่างจากดาวฤกษ์ ตรงที่หัวดาวหางฝ้ามัว และอาจมองเห็นหางฝุ่นที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ส่วนหางแก๊สที่มีสีน้ำเงินจะจางกว่าหางฝุ่นมาก โดยทั่วไปจะเห็นได้ในภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องรับแสงเป็นเวลานานเท่านั้น
ที่มา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) , สมาคมดาราศาสตร์ไทย