"หมอธีระ"แนะ 3 คำ "น้อย-สั้น-ไกล" ลดเสี่ยงติดโควิด-19

04 ส.ค. 2563 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2563 | 08:30 น.

"หมอธีระ"เผยโควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก หลายประเทศต้องล็อคดาวน์อีกครั้ง แนะ 3 คำสำคัญ "น้อย-สั้น-ไกล" ลดเสี่ยงติดโควิด-19

4 ส.ค.63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกวันนี้ 29 กรกฎาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า  สถานการณ์ทั่วโลก 4 สิงหาคม 2563

เมื่อวานนี้ติดเพิ่ม 186,908 คน ตัวเลขยังไม่ได้รายงานจากหลายประเทศ ยอดรวม 18,389,592 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 45,230 คน รวม 4,855,562 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 2,621 คน รวม 2,736,298 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 50,629 คน รวม 1,855,331 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,394 คน รวม 856,264 คน

สเปน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดกันหลักพันถึงหลายพัน ญี่ปุ่นก็เช่นกัน

อีกหลายประเทศในยุโรปติดกันหลายร้อย เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ รวมถึงปากีสถาน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเวียดนามตอนนี้หลักสิบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอธีระ"เตือน แง้มประตูรับต่างชาติ ความเสี่ยงสูง โควิด-19 ระบาดรุนแรงทั่วโลก

"อินเดีย"ยังวิกฤต เชื้อโควิดรายวันทะลุ 5 หมื่นรายติดต่อวันที่ 5

ฮ่องกงเปิด รพ.ชั่วคราวแห่งแรกรับผู้ป่วยโควิดที่จำนวนพุ่งขึ้นมาก

โควิดยังไม่คลี่คลาย "โตเกียว"เล็งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

...หลายประเทศต้องย้อนกลับมาล็อคดาวน์กันอีกครั้ง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับประเทศตัวเอง แต่พอเกิดระบาดซ้ำ ก็ไม่มีทางเลือก...

ข่าวประจำวันที่สำคัญคือ องค์การอนามัยโลกบอกว่าตอนนี้มีวัคซีนที่กำลังทดลองเพื่อดูผลในการป้องกันโรค หรือเราเรียกว่าทดลองในคนระยะที่ 3 นั้น มีอยู่ 5 โครงการที่ดำเนินการอยู่ แต่มีแนวโน้มที่จะต้องเผื่อใจไว้บ้างว่า อาจไม่ได้กระสุนวิเศษที่จะมาจัดการโรคโควิดได้ เพราะระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างได้นั้นอาจอยู่ได้นานไม่กี่เดือน หรือประสิทธิภาพอาจไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังฟันธงไม่ได้ จนกว่าจะทำการวิจัยให้ถึงที่สุด

การได้ฟังข่าวดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าหมดหวัง แต่หากประสิทธิภาพไม่สูง ก็จำเป็นต้องฉีดในประชากรจำนวนมากขึ้นเพื่อหวังภูมิคุ้มกันหมู่ในการควบคุมโรค หวังใจว่าหากได้วัคซีนประสิทธิภาพไม่ต่ำจนเกินไป ก็ยังพอมีประโยชน์

สงคราม COVID-19 นี้เป็นการสู้รบที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก เพราะคนไม่มีอาวุธสู้ นอกจาก"พฤตินิสัยและอุปกรณ์ป้องกัน"

หากไม่นับเรื่องปัญหาอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอแล้ว หลายประเทศโดนโรคกระหน่ำรุนแรงจนย่ำแย่ เพราะไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้ประชาชนเกิดพฤตินิสัยในการป้องกันตัวได้

...โรคนี้เกิดจากการติดต่อกันของคน...หากเจอคนเยอะ นาน และใกล้ชิด...โอกาสติดก็มากขึ้นตามลำดับ

พฤตินิสัยที่จะช่วยพวกเราทุกคนได้มากมีคำสำคัญแค่ 3 คำเท่านั้นคือ

หนึ่ง "น้อย" คือ การพบปะคนให้น้อยลง ไม่ไปอยู่ในที่แออัด ที่ชุมนุม หรือที่อโคจร

สอง "สั้น" คือ การพบเจอกับคนอื่นโดยใช้เวลาสั้นลง

สาม "ไกล" คือ การที่เจอกันแล้ว อยู่ไกลๆ กันอย่างน้อยหนึ่งเมตร

ทั้งนี้หากทำให้เป็นนิสัยประจำวัน พร้อมกับสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ แล้ว ก็จะช่วยให้เรามีโอกาสติดโรค COVID-19 น้อยลงอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์ในเมืองไทยตอนนี้ ถ้าเราตามข่าว คงต้องยอมรับว่าความเสี่ยงมีมากขึ้นจากการเดินทางเข้ามาในประเทศของทั้งคนไทยและคนต่างชาติจากประเทศต่างๆ ตามที่รัฐได้ประกาศปลดล็อคระยะที่ 5 และ 6 ออกไป

นอกจากต้องให้กำลังใจ เอาใจช่วยให้ระบบคัดกรอง กักตัว และติดตาม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราคงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา สังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในสังคมและแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่เสมอ

เจ้าของธุรกิจห้างร้านที่ใช้แรงงานต่างด้าว ควรใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย พาพวกเค้าไปตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน และกักตัวเฝ้าสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน ขอโปรดอย่าลัดเลาะ เพราะหากเกิดปัญหาติดเชื้อขึ้นมาแล้ว อาจกระทบใหญ่หลวง และทำให้กิจการของท่านต้องปิดในระยะยาว

ประเทศไทยต้องทำได้

ด้วยรักต่อทุกคน