ทีมอัยการแถลงคดี “บอส อยู่วิทยา” อุ้ม “เนตร นาคสุข” สั่งไม่ ฟ้องคดีเป็นไปตามก.ม. ชี้ข้อหาขับรถชนคนตายยังไม่สิ้นสุด หากมีพยานหลักฐานใหม่ทั้งเรื่องโคเคน-ความเร็วรถ สอบสวนต่อได้ ชงอสส.แจ้งตำรวจ
กรณีอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากเหตุขับรถเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 เมื่อปี 2555 ขณะที่ทางตำรวจก็ไม่มีความเห็นแย้ง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ทำให้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ต้องตั้งคณะทำงานอัยการขึ้นมาตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 คณะทำงานอัยการ ทั้ง นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา น.ส.เสฏฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการสั่งคดีดังกล่าว
นายประยุทธ กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริง และ พยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด แล้วเห็นว่า นายเนตร ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตาม พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจ
รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณา ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผบ.ตร. ได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว
แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมาย ความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้
โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า คณะทำงานตรวจพบในสำนวนสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ผู้ต้องหาที่ 1 ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี (อายุความตามกฎหมาย 10 ปี)
ส่วนในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ โดย ดร.สธน ได้ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาที่ 1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน
นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคิด คำนวณหาความเร็วของรถ และตนได้คิด คำนวณ พร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ตํ่ากว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว คณะทำงานจึงมีความเห็นและนำกราบเรียนอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป
ด้าน นายชาญชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นปัญหาเชิงระบบจากดุลพินิจของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว เราควรจะร่วมกันเข้าไปสอบสวนอย่างทันท่วงที ส่วน การร้องขอความเป็นธรรมนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดควรจะมีกรอบระยะเวลาให้ยุติได้ด้วยความเป็นธรรม ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ร้องครั้งเดียว และกรณีความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่แตกต่างกันแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ควรให้มีการตรวจพิสูจน์กันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง จะต้องเช็กบาลานซ์กันอย่างไร เรื่องนี้ถ้าเรามองในด้านดี เราพบหลายเรื่องมีปัญหา ทำให้เราได้แนวคิดไปแก้ไข เพื่อจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,598 หน้า 12 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2563