นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในการแถลงข่าวการระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ว่า วันนี้ (26 สิงหาคม 2563) กระทรวงฯ จะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 รายการ (ยูอาร์แอล) ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 รายการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พุทธิพงษ์” เมินเฟซบุ๊กฟ้องไทย ลั่นเพื่อปกป้องอธิปไตยไซเบอร์
นายกฯ แจงปมสั่ง"เฟซบุ๊ก"ปิดเพจดำเนินการตามกม.ไทย ลั่นพร้อมสู้คดีหากถูกฟ้อง
“เฟซบุ๊ก” จ่อฟ้องรัฐบาลไทยกดดันบล็อกเพจ "รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส"
สำหรับความคืบหน้าจากที่ดำเนินการไปแล้วตามคำสั่งศาลก่อนหน้านี้ โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เป็นจำนวน 1,276 ยูอาร์แอล โดยจากการติดตามความคืบหน้าเมื่อครบกำหนด 15 วัน เมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม 2563) พบว่าทุกรายรวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ TikTok ให้ความร่วมมือดำเนินการลบยูอาร์แอลผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลครบทั้ง 100% โดยในจำนวนนี้เป็นรายการที่อยู่บนเฟซบุ๊ก จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล
ส่วน เพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส เฟซบุ๊กสั่งปิดไปตามคำสั่งศาลตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเพจดังกล่าว ขอยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นทางการเมือง และทำตามกฎหมายไม่ได้กลั่นแกล้งใคร จำนวนหลยูอาร์แอลที่ส่งให้ดำเนินการนั้นเป็นคำสั่งศาลออกมา ยังครอบคลุมถึงด้านอื่นๆ ที่เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
นายพุทธิพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข้อวิตกกังวลจากหลายฝ่ายการดำเนินการปิดกั้นเพจนั้น เฟซบุ๊ก อาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีประเทศไทยสำหรับกรณีการสั่งปิดกั้นเนื้อหาหรือเพจผิดกฎหมาย รวมทั้งอาจทำให้ เฟซบุ๊ก ตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในประเทศไทยนั้น
“โดยส่วนตัวมองกลับกัน เนื่องจากการดำเนินการในเรื่องนี้ของประเทศไทย เป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมายของประเทศไทย ก่อนดำเนินการจะมีจดหมายแจ้งเตือนและขอความร่วมมือ ทุกฉบับที่ส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อลบหรือปิดกั้นยูอาร์แอลผิดกฎหมาย จะมีการแนบคำสั่งศาลไปด้วย เพื่อเป็นข้อมูลและหลักฐานช่วยให้เจ้าของแพลตฟอร์มทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกโจมตีว่าไปละเมิดสิทธิ์ผู้ใช้งาน อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความศักดิ์ของกฎหมายประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนของบริษัทต่างๆ ว่าจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันส่วนกรณีที่มีข้อวิตกกังวล”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ สถิติระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาจำนวน 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย จำนวน 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย จำนวน 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ จำนวน 133 รายการ
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ
สำหรับตัวเลขรวมที่ได้รับการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ และตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ (เตรีนมส่งจนท.ตร./เจ้าของแพลตฟอร์ม), อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ