การก่อสร้างถนนสายใหม่อุดรธานีตัดตรงไปบึงกาฬขยับ หวังลดระยะทางจากเดิมลงกว่า 60 กิโลเมตร หนุนบึงกาฬขึ้นชั้นเมืองเศรษฐกิจชายแดนริมน้ำโขงแห่งใหม่ บริษัทที่ปรึกษาประชุมปฐมนิเทศโครงการ ฟังความเห็นข้อเสนอแนะประชาชนแล้ว ชี้ต้องสอดคล้องแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงแรมพรรณราย เทศบาลนครอุดรธานี กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วยบริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กร๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัท ซีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอลซัลแตนท์ จำกัด จัดการประชุมปฐมนิเทศ การก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ เพื่อสร้างความรับรู้โครงการการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แก่หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติที่ประชุม ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่จังหวัดหนองคาย ให้กรมทางหลวงศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในด้านต่างๆ การก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงจากอุดรธานี -บึงกาฬ ตามที่ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 (กลุ่มจังหวัดสบายดี) เสนอขอรับการสนับสนุน ตามแผนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
เนื่องจากบึงกาฬแยกออกจากจังหวัดหนองคาย ปัจจุบันการเดินทางจากอุดรธานีไปบึงกาฬ มี 2 เส้นทางหลัก คือ จากอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ไปหนองคาย ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 212 เลียบแม่น้ำโขงไปบึงกาฬ อีกเส้นทางใช้ทางหลวงหมายเลข 22 อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ไปเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกอำเภอพังโคน จ.สกลนคร จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 222 อ.พังโคน-บึงกาฬ ทั้งสองเส้นมีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร แต่ถ้าตัดเส้นทางใหม่อุดรธานี-บ้านดุง-บึงกาฬ จะเหลือเพียง 139 กิโลเมตร ลดระยะทาง ประหยัดเวลา และยังสอดรับกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า
เกิดเป็นโครงข่ายคมนาคมขนส่ง หนุนบึงกาฬให้กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน และของกลุ่มจังหวัดภาตตะวันออกเฉียงตอนบน 1 เพราะจากจังหวัดบึงกาฬ สามารถจะเดินทางท่องเที่ยว ขนส่งสินค้าเข้า-ออก ในส่วนนี้ของภาคอีสาน และสามารถเดินทางไปยังจังหวัดภาคกลางของประเทศเวียดนามที่ชายทะเลจีนตอนใต้ได้เพียงระยะทางไม่ถึง 200 ก.ม. และยังสามารถต่อไปยังภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของกลุ่มประเทศอาเซียน
รองผู้ว่าฯอุดรธานี กล่าวย้ำว่า การศึกษาออกแบบแนวสายทางถนนเส้นใหม่นี้ จะต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างถนนวงแหวนรอบสองของจังหวัดอุดรธานี ที่กำหนดไว้ให้อยู่ห่างจากวงแหวนรอบแรกประมาณ 15 ก.ม. จะต้องเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ขนส่งของจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดในทุกมิติ ต้องไม่เฉียดหรือใกล้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมะ-วัฒนธรรม และให้เกิดความเจริญของหมู่บ้านชุมชนที่จะเกิดตามหลังโครงการในอนาคต เพื่อเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดและชุมชน/หมู่บ้านด้วย
ที่ประชุมครั้งนี้มีข้อคิดเห็นเสนอแนะในหลายประการ โดยข้อเสนอหนึ่่งระบุว่า ขอให้บรรจุการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม ที่ให้โครงการก่อสร้างโครงข่ายทาง หลวงเชื่อมโยงอุดรธานี-บึงกาฬดังกล่าว เป็นถนนมอเตอร์เวย์ มีการเก็บค่าบริการการใช้เส้นทางดังกล่าว หรือให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
นายธวัชชัย เบญจพลชัย ที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษามีระยะเวลาศึกษาฯ 15 เดือน หรือ 450 วัน มีพื้นที่ดำเนินการรวม 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และจังหวัดบึงกาฬ รวม 30 อำเภอ 174 ตำบล วิธีการดำเนินการเริ่มที่จังหวัดอุดรธานี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาที่จำเป็นในทุกด้าน อาทิเช่น การทบทวนแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย การทบทวนการศึกษาเดิม การศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม การคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาและแนวเส้นทางโครงการ การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง เป็นต้น
ต่อจากนี้ไป กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะจัดทีมทำงานลงพื้นที่ในทุกอำเภอตำบลเป้าหมาย เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้นำเอาไปบรรจุในรายงานการปฏิบัติตามกรอบกำหนดต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่ง4เลนเชื่อมอีสานเหนือ ‘อาคม’เดินหน้าโครงข่ายหลัก‘เส้นทางยุทธศาสตร์’
บูม“บึงกาฬ” เมืองเศรษฐกิจใหม่ จี้รัฐเทลงทุนถนน-รถไฟ-สนามบิน
9ปี“บึงกาฬ”ตอกเสาเข็มแรกปีนี้“สะพานข้ามโขง5”