นั่นคือส่วนหนึ่งของเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ ของเมืองอุดรธานี ที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางภาคอีสานไทย นอกจากเป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว อุดร ยังเป็นเมืองใหญ่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่ขึ้นชื่ออาทิ ทุ่งดอกบัวแดง สวนสาธารณะหนองประจักษ์ ศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน ศาลปู่ย่า สวนสิทธิกร บ้านห้วยสำราญ รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่น่าสนใจ
อย่าง "น้ำพาน" นาสะอาด อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี มีลักษณะเป็นแก้มลิงที่เชื่อมโยงกับลำห้วยหลวง และแม่น้ำโขง มีพื้นที่ราว 12,000 ไร่ กินพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ สร้างคอม เชียงดา และนาสะอาด เรียกว่ามีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตาเหมาะแก่การล่องแพเป็นอย่างยิ่ง
ชาวบ้านได้ร่วมตัวกันทำผลิตแพด้วยเงินส่วนตัว ทำแพ 6 ลำในช่วงเริ่มต้น จนปัจจุบันขยายเป็น 250 ลำ เสน่ห์ของล่องแพน้ำพาน คือการเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และยังมีการปิดการเข้าชมในบางช่วง เพื่อให้ปลาวางไข่ และสาหร่ายใต้แม่น้ำได้เจริญเติบโต และยังมี ประเพณีการสักการะสิ่งศักดิ์อย่างศาลปู่ปอโอ ที่ชาวบ้านนับถือในวันขึ้น 15 ค่ำวันพระใหญ่ อีกด้วย
อีกหนึ่ง Unseen อุดรธานี คือ "วัดภูตะเภาทอง" Unseen แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
วัดภูตะเภาทองตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านหนองแวงศรีชมพู ต.กุดหมากไฟ มีพื้นที่วัดราว 15 ไร่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลานหิน มีความโดดเด่นตรงหินขนาดใหญ่มากกว่า 30 ลูก รูปร่างแปลกตาตั้งเรียงอยู่ โดยทางวัดได้พัฒนาทางเดิน รวมถึงทางขึ้นหินแต่ละก้อน เชื่อมโยงกันด้วยบันไดไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปร่วมชมความงามของผืนป่า และไม้ป่านานาพันธ์ที่เกิดบนภูเขาหินอย่างเหลือเชื่อ
ที่แห่งนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่า เดิมเคยเป็นทะเล ต่อมาเกิดการยกตัวขึ้นเป็นลานหินและพื้นดินคาดว่าจะมีกลุ่มคนผู้เลี้ยงสัตว์ หรือนายพรานใช้เป็นเส้นทางการหากิน เนื่องจากพบ "รอยฝ่ามือแดง" ข้างหินก้อนใหญ่รูปเรือสำเภาโบราณ ซึ่งกรมศิลปากรตรวจสอบแล้วยืนยันว่า มีอายุประมาณ2,500 ปี ใกล้เคียงกับที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งบริเวณที่น่าสนใจ คือ บ่อน้ำสีคราม กั้นกลางระหว่างหิน 2 ลูก ขอบบ่อเนรมิตรพญานาคสีทองขนาดใหญ่ 2 ตัว เมื่อเงาของพญานาคสะท้อนในน้ำ รวมกับแสงของพระอาทิตย์ในแต่ละช่วงวัด จะเกิดปรากฏการณ์น้ำสีต่าง ๆ จากคำบอกเล่าของพระครูเขมกาญจโนภาส (สุพรรณ) เจ้าอาวาสวัดภูตะเภาทอง เล่าถึงที่มาของชื่อวัดว่า ตั้งตามพื้นที่ก่อตั้งคืออยู่บนภูเขาและมีลักษณะหินก้อนหนึ่งที่ชาวบ้านในจังหวัดมีความเชื่อว่า หากมาลอดใต้ท้องหินคล้ายกับการลอดท้องช้าง ซึ่งหินมีรูปลักษณะหากมองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปเรือสำเภาโบราณ หากใครได้มาเยือน มักลอดใต้ท้องหิน และอธิฐานขอเรื่องหน้าที่การงานให้เจริญรุ่งเรือง
จุดไฮไลท์ของวัดภูตะเภาที่มาแล้วไม่ควรพลาดชม ยังมี "รูปปั้นพญานาคราชสีทอง ชื่อ มุจลินท์" และยังมี “ข้าวผัดจันผา” ของกินท้องถิ่นที่มีกินแค่ที่ อ.ตะเภาทองแห่งเดียวเท่านั้น
ปิดท้ายกันที่ "สปาเกลือสินเธาว์" จากบ่อเกลือใต้บาดาล โดยอุดรธานีเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดของภาคอีสานที่ผลิตเกลือสินเธาว์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีพื้นที่ผลิตเกลือประมาณ 3,000 อยู่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ บ้านดุง ต.บ้านชัย, พื้นที่บ้านฝาง บ้านโพนสูงเหนือ - บ้านโพนสูงใต้ ต.โพนสูง, พื้นที่บ้านดุงน้อย บ้านศรีสุทโธ ต.ศรีสุทโธ และบ้านดุงเหนือ ต. บ้านดุง ซึ่งกำลังเป็นอีกหนึ่งแหล่งอันซีนที่หลายๆ คนต้องมาแวะ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563