เดินเครื่องเต็มสูบสำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟสแรก หลังล่าช้าประสบปัญหารอบด้านทั้งอุปสรรคการเข้าพื้นที่ก่อสร้างจากสถานการณ์โควิด-19 การปรับแบบทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกระทบพื้นที่มรดกโลก ตลอดจน การฟ้องร้อง การประมูลจัดซื้อจัดจ้างระหว่างผู้รับเหมาด้วยกัน กระทั่งคาดว่าน่าจะเลื่อนการเปิดให้บริการออกไป จากปี 2566 เป็นปี 2568 ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ-หนองคาย เฟส 1 (ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร
ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณากำหนดพิธีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 1 (ช่วงกรุงเทพฯ - นคร ราชสีมา) สัญญา 2.3 (สัญญาการวางระบบและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการวางแผนการดำเนินงานให้ครบถ้วน เบื้องต้นจะมีการประชุมกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบศ.) เพื่อหารือในการขออนุญาตตัวแทนจากรัฐบาลของประเทศจีนเดินทางร่วมลงนามสัญญาในครั้งนี้และกำหนดมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
รวมทั้งการขออนุญาตใช้พื้นที่โรงแรมแชงกรีล่าเพื่อจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างรถไฟไทย-จีน (Joint Committee : JC) ครั้งที่ 29 หลังจากการลงนามสัญญาโครงการฯที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วเสร็จ
สำหรับกรณีการปรับรูปแบบสถานีอยุธยา เบื้องต้นกรมศิลปากรเห็นชอบให้ยึดรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่เคยเสนอไว้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี ต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป หากดำเนินการแล้วเสร็จ การลงนามสัญญาโครงการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์
“กรณีที่บริษัทนภาก่อสร้าง จำกัด ค้านผลประมูลบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่คว้าสัญญา 3.1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ นั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่มีการฟ้องระหว่างกัน หากศาลมีการติดสินพิพากษาคำสั่งเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันการประมูลฯมีคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) อยู่แล้ว ไม่น่ากังวล ซึ่งเราได้สั่งทุกหน่วยงานต้องวางแผนงานไปสู่การปฏิบัติ หากเรื่องใดตัดสินใจแล้วให้ดำเนินการ ถ้าเรื่องใดไม่ถูกต้องก็ให้ยกเลิก ทั้งนี้ที่กระทรวงฯจะมีการมอบนโยบายเร่งด่วนปี 2564 ภายในเดือนตุลาคมนี้”