สัปดาห์หน้า ชงคมนาคม ลุย “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง”

23 ต.ค. 2563 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2563 | 12:34 น.

กทพ.เดินหน้าโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน หลังกรมป่าไม้เคาะใช้พื้นที่ เร่งเสนอครม.สัญจรภูเก็ต คาดเปิดประมูลกลางปี 2564 เผยค่าผ่านทางเริ่มต้น 15 บาท

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทว่า กทพ. อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลแผนงานรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อรายงานแผนการดำเนินงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) รับทราบ ซึ่งจะมีการประชุม ในวันที่ 2-3 พ.ย.63 ที่ จ.ภูเก็ต รับทราบ อย่างไรก็ตามในโอกาสนี้จะเชิญนายศักดิ์สยามลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่จริงที่จะใช้ก่อสร้างโครงการด้วย

 

 “ขณะนี้โครงการไม่ติดปัญหาอะไรแล้ว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ป่า 3 แห่ง และพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 1 แห่ง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะใช้ในการก่อสร้างอุโมงค์ระยะทาง 1.85 กม. โดยจะใช้พื้นที่ป่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอโครงการให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติได้ในเดือน ก.พ.64 คาดว่าจะสามารถเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ได้กลางปี 64 และได้ผู้ชนะการประมูล พร้อมเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 65 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี 69”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการทางด่วนสายใหม่นี้มีขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ ด้านละ 3 ช่อง มีความพิเศษตรงที่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ทางพิเศษนี้ได้ด้วย โดยกำหนดช่องซ้ายสุดเป็นเลนรถจักรยานยนต์ แยกจากรถยนต์ ถือเป็นทางด่วนสายแรกในไทยที่เปิดโอกาสให้รถจักรยานยนต์ใช้ทางด่วนได้ครั้งแรก นอกจากนี้โครงการยังช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากกระทู้ไปป่าตอง ซึ่งเดิมต้องขับรถวนตามทางคดเคี้ยวผ่านเขา จากประมาณ 1 ชั่วโมง เหลือไม่เกิน 5 นาที และยังมีความปลอดภัย ช่วยลดอุบัติเหตุได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับผลการประเมินโครงการดังกล่าว พบว่า ปริมาณการจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีรถใช้บริการประมาณ 60,000 คันต่อวัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 30,000 คัน และรถยนต์ 30,000 คัน จากปริมาณการจราจรเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60,000 คันต่อวัน สำหรับอัตราค่าผ่านทาง มีดังนี้ รถจักรยานยนต์ ราคา 15 บาท รถยนต์ขนาด 4 ล้อราคา 40 บาท รถยนต์ขนาด 6-10 ล้อราคา 85 บาท และรถยนต์ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปราคา 125 บาท