การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกที่ผ่านมาทำให้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอ เรชั่น (AWC) ได้รับการติดต่อจากโรงแรมกว่า 100 แห่ง ในการเสนอขายโรงแรม ทำให้ AWC มองเห็นโอกาสในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาซื้อโรงแรม ควบคู่ไปการปรับปรุงแผนลงทุน 5 ปีของAWC อ่านได้จากการเปิดใจของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์คอร์ปอเรชั่น (AWC)
+จ่อตั้งกองทุนหลักหมื่นล.
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ โรงแรม กว่า 100 ราย สนใจที่จะ เสนอขาย โรงแรมและที่ดินเปล่าให้แก่ AWC ซึ่งก็มีทั้งโรงแรมในกรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของคนไทย มีทั้งที่บริหารเอง และจ้างเชนมาบริหาร เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว 4 ดาว ไปจนถึง5 ดาว เนื่องจากประสบปัญหาการขาดสภาพ
ทำให้ AWC มีแผนจะร่วมมือกับนักลงทุนหลัก อย่างไพรเวท ฟันด์ จากเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงสถาบันการเงินของไทย เพื่อร่วมกัน จัดตั้งกองทุนในลักษณะ opportunity fund เพื่อมาช้อนซื้อโรงแรม โดยมี AWC จะเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน มูลค่ากองทุนยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะอยู่ในหลักหมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2564
“เรามองเป็นโอกาสที่จะซื้อแล้วบริหารต่อ ซึ่งโรงแรมที่ทางกองทุนจะเข้าไปซื้อ ต้องดูว่ามีศักยภาพในการนำมาพัฒนา เพื่อขายต่อ รวมถึงมีโอกาสที่จะนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับกลยุทธของ AWC”
ทั้งนี้การลงทุนของ AWC ก็ไปได้ ปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ในระดับต่ำที่ 0.7 เท่า ยังมีโอกาสในการกู้เพื่อนำเงินมาลงทุนอีกมาก โดยใน 100 โครงการที่นำมาเสนอขายจากที่ดูมี 30% หรือราว 30 แห่งที่ AWC สนใจ และคิดว่าเหมาะสมกับการลงทุนของ AWC
อีกทั้งเรายังมองว่าการตั้งกองทุนนี้ ก็จะยังช่วยธุรกิจโรงแรมของคนไทย ที่เดือดร้อน และ ขาดสภาพคล่อง ในขณะนี้ เพราะการขายหนึ่งแห่ง อาจจะอยู่ได้อีกหลายแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่แค่โควิด เพราะก่อนหน้านั้นโรงแรมที่มาเสนอขายก็ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอยู่แล้วเดิมด้วยเช่นกัน
++รีวิวแผนลงทุน 5 ปี
ในส่วนของแผนลงทุนของ AWC เองปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วรวม 18 แห่ง หลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ในขณะนี้ AWC ต้องปรับปรุงแผนลงทุนในช่วง 5 ปี (2563-2567) ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้วางกรอบการลงทุนไว้ 2 ซีนาริโอ ได้แก่
1. ถ้าสถาน การณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับมา Pick up หรือกระเตื้องขึ้น ในช่วงต้นปีหน้า และมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี เราก็ยังคงเดินตามแผน เพียงแต่บางโครงการอาจจะดีเลย์ออกไปจากเดิม 1 ปี จากปี 2567 ขยับไปเป็นปี 2568
2. ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ เราก็จะบริหารการลงทุน โดยจะยังไม่ได้จ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง แต่จะไปทำเรื่องของการออกแบบหรือเรื่องใบอนุญาตรอไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าโดยรวมผลกระทบน่าจะอยู่ในช่วง 1-2 ปี ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์ตลาดในปีหน้าก่อนว่าตลาดพร้อมหรือยัง ถ้าตลาดกลับมาเราก็พร้อมเปิด
อย่างล่าสุด โรงแรมบันยันทรี กระบี่ มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เดิมจะเปิดในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ก็ขยับมาเป็นเดือนตุลาคมนี้แทน เราดูว่าถ้าในโลเคชั่นไหนตลาดเริ่มกลับมา ก็พร้อมเปิดให้บริการหรือถ้ายังไม่มา เราก็ต้องขยับไทม์ไลน์ในการเปิดให้บริการออกไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดซัพพลายเพิ่มในขณะที่ดีมานต์นักท่องเที่ยวยังน้อยอยู่
เช่น โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ จากต้นปี 2564 เป็นปลายปี โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล แม่ปิง เชียงใหม่ (เดิมเป็นโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง) จะขยับมาเปิดให้บริการเต็มรูปในปี 2565 ส่วนโรงแรมภายใต้แบรนด์ “ริทซ์คาร์ลตัน รีเสิร์ฟ” ในพื้นที่โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์ คาดว่าจะเปิดในปี 2566 จากแผนเดิมปี 2565 เป็นต้น
สำหรับการลงทุนในพัทยา โครงการ มิกซ์ยูส ซึ่งจะมีทั้งโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวมีการหารือกับบริษัทเมอร์ลิน เพื่อสร้างทัวริสต์ แอคแทรคชั่น และ AWC คงจะลงทุนในส่วนโรงแรม ส่วนโรงแรม มีแผนลงทุน 3 แบรนด์โรงแรมภายใต้การบริหารของเชนแมริออท คือ เจดับบลิว แมริออท พัทยา, แมริออท มาคีส พัทยา, ออโตกราฟ คอลเล็คชั่น รวมห้องพักกว่า 1,298 ห้อง
ขณะที่โรงแรมแกรนด์โซเล่ กำลังรีแบรนด์และดึงเชนต่างชาติมาบริหาร คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเร็วๆ ส่งผลให้โรงแรมในพัทยามีห้องพักทั้งหมดกว่า 1,900 ห้อง และยังมีที่ดินอีกแปลงที่ก็มองการพัฒนาในอนาคตไว้ด้วย เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี
ดังนั้นตามแผนลงทุน 5 ปีนี้ แม้ AWC อาจจะมีการขยับไทม์ไลน์ในการลงทุนหรือเปิดให้บริการออกไปบ้างในช่วง 1-2 ปีนี้แต่การลงทุนก็ยังอยู่ในแผน โดยมีโครงการที่อยู่ในไปป์ไลน์ราว 10 โรงแรม มูลค่าการลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังตั้งงบไว้อีกราว 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพที่เราอาจจะซื้อเข้ามาหรือลงทุนเพิ่มเติม รวมแล้วตามแผน 5 ปีใช้งบลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีโรงแรมที่อยู่ภายใต้การพัฒนาราว 12 แห่ง
สำหรับมูลค่าสินทรัพย์ของ AWC หลังจากนำสินทรัพย์ 3 จากกลุ่ม ทีซีซี เข้ามารวมเพื่อบริหารจัดการ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ก็ทำให้มูลค่าทรัพย์สิน เพิ่มจาก 1 แสนล้านบาท เป็น 1.24 แสนล้านบาท
++ธุรกิจผ่านจุดต่ำสุด
จากสถานการณ์โควิด โดยรวมทั่วโลกคาดการณ์ผลกระทบจะอยู่ที่ 2 ปี แต่ไทยมีระบบการควบคุมโควิดที่ดีระดับโลก จากที่คุยกับทางเชนโรงแรมที่ AWC ดึงเข้ามาบริหารโรงแรมให้ก็บอกว่าบุ๊กกิ้งพร้อมจะเข้ามาอยู่แล้ว ถ้าไทยพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีจุดแข็งด้าน การท่องเที่ยว ที่ดีอยู่ในระยะยาว
ช่วงที่ธุรกิจถึงจุดตกต่ำสุดคือช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เพราะเป็นช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ AWC เริ่มปิดโรงแรมไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม และในเดือนมิถุนายน จึงกลับมาเปิดให้บริการได้ทุกโรงแรม ทำให้ตอนนี้ถือว่าธุรกิจพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว โรงแรมในต่างจังหวัดมีอัตราการเขาพักเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ก็ถือเป็นจุดคุ้มทุน เพราะเรามีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ยกเว้นโรงแรมแมริออท หัวหิน มีอัตราเข้าพักสูงสุดอยู่ที่ราว 70% ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนโรงแรมในกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 10%
อีกทั้ง AWC นำ 2 โรงแรมเข้าสู่ ASQ (ที่พักกักตัว 14 วัน) คือ โรงแรมดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน และโรงแรม เลอเมอริเดียน กรุงเทพ ซึ่งเปิดมา 3 เดือน อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่งขึ้นมา 20% แต่หากรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นก็น่าจะทำให้มีการเข้าพักเพิ่มขึ้น
ผ่านมาแม้จะมีผลกระทบจากโควิด แต่ AWC ไม่มีนโยบายลดพนักงาน แต่ใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่น เช่นการประหยัดพลังงาน ที่ก็ได้ผลที่ดีมาก ดังนั้นเมื่อพนักงานเรายังอยู่เหมือนเดิม เมื่อเปิดโรงแรมเราก็พร้อมทันที รวมไปถึงมีอีกหลายโรงแรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น การรักษาบุคคลากรเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะที่การตุ้นตลาด โรงแรมในกรุงเทพ ก็จะเน้นการจัดโปรโมชั่นแฟลช เซลล์ อย่างในช่วงกลับมาเปิดโรงแรมช่วงแรกๆก็ขายเริ่มต้นห้องละพันบาทในบางช่วง โดย AWC คุยกับทางเชนโรงแรม ว่าจะรับผิดชอบค่าห้องพักส่วนเกินในราคาที่เชนตั้งราคาไว้เอง ก็มีลูกค้าสนใจมาก เพราะพักโรงแรม5 ดาว
ส่วนพนักงานเองก็ได้เซอร์วิสชาร์จ ก็ถือว่าช่วยกระตุ้นให้คนไทยเที่ยว ขณะเดียวกันคนไทยที่ช่วงนี้ไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็หันมาเที่ยวในประเทศ โดยเลือกที่พักในแบบยูนีค ทำให้โรงแรมในต่างจังหวัดหลายแห่งก็ได้ลูกค้าจากกรุงเทพเข้าไปพัก เพราะโรงแรมของAWC ก็จะเน้นตลาดระดับกลางไปถึงบน
++ปรับลุคใหม่ 4 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ AWC ในปีหน้า นอกจากเปิดโรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ (เดิมเป็นโรงแรมพรพิงค์ เชียงใหม่) ช่วงปลายปีแล้ว เรายังเน้นรีโพซิชั่นนิ่งธุรกิจในส่วนของค้าปลีก 4 แห่ง ได้แก่
1. พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ รีแบรนด์เป็น เออีซี เทรดเซ็นเตอร์ พันธุ์ทิพย์ โฮลเซลล์ เดสซิเนชั่น ที่จะเป็นศูนย์ค้าส่งครบวงจรใจกลางเมือง ที่จะเปิดให้เดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยฟรีค่าเช่าพื้นที่ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ส่งออก
2. ตะวันนา บางกะปิ จะปรับเป็นคอนเซ็ปต์อาหารและสตรีทฟู้ด ซึ่งไฮไลท์คือ ครัวคุณต๋อย ที่จะนำร้านอาหารมาให้บริการ และยังขายแบบดีลิเวอรี่ และออนไลน์ด้วย
3. พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน นอกจากมีจุดขายตลาดพระที่ใหญ่ที่สุด เราก็จะเพิ่มเอาเรื่องของศูนย์ความเป็นไทย ของเก่า หรือของโบราณเข้ามาด้วย
4. พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ เน้นคอนเซ็ปต์แบบล้านนา เป็นแหล่งไดนิ่งใจกลางเมือง
วันนี้เรายังอาจเผชิญกับผลกระทบโควิด แต่การท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ธุรกิจก็จะกลับมา ทำให้ AWC จึงมองการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,622 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC เปิดโรงแรมบันยันทรี กระบี่ ลงทุน 2พันล้านบาท
AWC เดินหน้าลงทุนฝ่าโควิด หวังฟื้นกำไร Q4
ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดันมิกซ์ยูส AWC ดึง แมริออท บริหาร 4 โรงแรมใหม่
ขนหน้าแข้งไม่ร่วง "AWC" โรงแรมกลุ่มเจ้าสัวเจริญ พลิกขาดทุนไตรมาส2