เอกชนอุดรธานีชี้บ้านเมืองมีปัจจัยลบซ้ำเติมโควิด-19 หวังแยกแยะให้ชัดเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ จี้ภาคเกษตร-ธุรกิจ ปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มเครื่องจักรเครื่องมือรองรับทักษะแรงงานคืนถิ่นกว่า 200,000 คนในจังหวัด ให้กลับมาสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่
ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานีชี้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และแรงงานกลับคืนถิ่น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ผลักดัน ให้ฝ่ายเอกชนทำฝ่ายเดียวไม่สำเร็จ เชื่อมั่นกับเศรษฐกิจของจังหวัดจะต้องเดินไปข้างหน้า ส่วนปัญหาแรงงานก็จะต้องปรับโครงสร้างสถานประกอบการให้สามารถรองรับ ดึงให้แรงงานดังกล่าวอยู่กับพื้นที่ หรือเพิ่มทักษะให้สูงขึ้น เตรียมจัดส่งเข้าสู่ตลาดแรงงานต่างประเทศหลังจากโควิค19 สงบลงแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดอุธรธานี มีการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ครั้งที่ 3/2563 ประกอบด้วย ชมรมธนาคารจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เพื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจล่าสุดจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 แนวทางการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี และมาตรการภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มในระยะต่อจากนี้
หลังการประชุมนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนอุดรธานีมองว่าระยะนี้บ้านเมืองมีเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 ซึ่งต้องแยกปัญหาที่เกิดขึ้นออกจากกันให้ชัด เพื่อที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเดินต่อไปได้ โดยเวลานี้ภาวะเศรษฐกิจของอุดรธานีที่หดตัวจากเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ทางภาคเอกชนมองว่า ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดดีดตัวกลับคืนมาได้แล้วประมาณ 40%
ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปข้างหน้า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ จะต้องเข้ามาร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง ช่วยกันผลักดัน หาแนวทางให้เศรษฐกิจของจังหวัดสามารถเดินหน้าไปได้ พร้อมไปกับคอยติดตามดูแนวทางการแก้ไขปัญหา และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลด้วยว่า เอื้ออำนวยต่อพื้นที่และประชาชนอย่างไรบ้าง เพียงพอแล้วหรือไม่ ครบถ้วนทุกภาคส่วนทุกด้านหรือยัง ยังมีความต้องการอะไรอีก ซึ่งภาคเอกชน หรือ กกร.จังหวัด จะคอยปรึกษาหารือแล้วช่วยกันนำเสนอต่อรัฐบาล
นายสวาทกล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาแรงงานที่เดินทางกลับคืนถิ่นจากที่ต่างๆ จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 เฉพาะของจังหวัดอุดรธานี มีจำนวนถึงเกือบ 200,000 คน คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมืองานต่างๆ ที่เคยทำมา เช่น การบริการ อุตสาหกรรม ช่างโรงงาน ขณะที่โครงสร้างกรผลิตของจังหวัดส่วนใหญ่ยังเป็นภาคเกษตรกรรม ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างใหม่ โดยปรับโครงสร้างของสถานประกอบการต่างๆ ให้เป็นมินิ หรือสมาร์ทสถานประกอบการ ปรับกระบวนการทำงานให้รองรับกำลังแรงงานคืนถิ่นเหล่านี้ได้ เพื่อดึงผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ให้ทำงานในพื้นที่ ไม่ต้องกลับไปหางานในแหล่งงานเดิมอีกในอนาคต
ส่วนภาคเกษตรที่เป็นโครงสร้างหลักของภาคอีสาน ก็ต้องปรับโครงสร้างจากการใช้แรงงานคนเป็นหลัก ปรับให้เอาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีเทคโนโลยี หรือเทคนิคนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำการเกษตรเข้ามาทดแทนการผลิตแบบเดิม หรือการเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่มีอยู่ให้ยกระดับขึ้นเป็นช่างหรือผู้เชี่ยวชาญ เตรียมความพร้อมเพื่อรอจัดส่งออกไปทำงานในต่างประเทศ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย และตลาดแรงงานประเทศต่างๆ กลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งเป็นการบ้านใหญ่ที่สำคัญมากที่ภาคเอกชน และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมตัวเอาไว้รองรับให้พร้อม
ในส่วนการมองไปข้างหน้าในระยะต่อจากนี้ หรือหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิค-19 ดีขึ้นแล้วนั้น นายสวาทมองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโดยภาพรวมดีขึ้นมาถึง 40% แล้ว แต่ก็มีการบ้านข้อใหญ่และสำคัญมาก คือ จะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มตัวเลขเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ลำพังแต่ภาคเอกชนส่วนเดียวคงจะไม่สำเร็จ แต่ภ้าทุกภาคส่วนมาช่วยกันระดมความคิดและลงมือทำ ก็คงจะไม่เป็นเรื่องที่เกินความสามารถของพลังแนวความคิดจากหลายๆ ภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดัน
“หากถามว่ามีความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจในช่วงต่อไปมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันลงมือทำก็จะได้และเกิดผลสำเร็จ เพราะบ้านเมืองเราประเทศของเรามีศักยภาพที่ดีๆ เยอะแยะ ถ้าเราใช้สิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เกิดประโยช์ ผมเชื่อว่าจะสามารถเห็นผลกับสิ่งที่วางเอาไว้โดยไม่ยากเย็น” นายสวาทกล่าวย้ำ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5-7 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุดรฯระดมนักธุรกิจฝ่าโควิด วางอนาคต“เศรษฐกิจวิถีใหม่”
ผวา ตกงานพุ่ง ธปท.แก้โจทย์ จี้สร้างศก.ภูมิภาคดูดแรงงานคืนถิ่น