โควิด ฉุดกำไร 9 เดือน WHA วูบ 25 % เหตุโอนที่ดินให้นักลทุนต่างชาติไม่ได้

13 พ.ย. 2563 | 12:00 น.

WHA Group โชว์ผลดำเนินงาน 9 เดือน กำไรลดลง 25.6 % เหตุโอนที่ดินให้กับนักลงทุนต่างชาติต้องเลื่อนออกไป จากสถานการณ์โควิด-19 ต่างชาติเดินทางมาไทยไม่ได้ คาดไตรมาส 4 การดำเนินงานฟื้นตัว จ่อบุ๊ครายได้ ขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREIT กว่า 4,600 ล้านบาท

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,611.4 ล้านบาท และ 428.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 1,609.0 ล้านบาท และ 440.7 ล้านบาท ลดลง 28.0% และ 3.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562

 

ด้านผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 4,855.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,069.9 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน 4,893.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1,155.3 ล้านบาท ลดลง 26.4% และ 25.6% ตามลำดับจากปีที่แล้ว

 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการโอนที่ดินที่ยังคงเลื่อนออกไป เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ประกอบกับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโรงไฟฟ้า Gheco-One และค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค ซึ่งบริษัทฯ ยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน และผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จึงมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 9 เดือน ในอัตราหุ้นละ 0.0367 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ตามลำดับ

โควิด ฉุดกำไร 9 เดือน WHA วูบ 25 %  เหตุโอนที่ดินให้นักลทุนต่างชาติไม่ได้

                                    นางสาวจรีพร จารุกรสกุล

ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 302.0 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าอีกกว่า 200,000 ตารางเมตร กับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลทำให้พื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมดของบริษัทฯ มีมากกว่า 2,500,000 ตารางเมตร ภายในสิ้นปีนี้

 

สำหรับการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ก็เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยคาดว่าจะโอนทรัพย์สินและสามารถรับรู้รายได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREIT มูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 4,600 ล้านบาท ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

 

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการโอนที่ดินไตรมาส 3 เท่ากับ 112.0 ล้านบาท โดยมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและการขายที่ดินใหม่ ยังคงเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้ค่าสิทธิในการผ่านทางเข้ามาหนุน จำนวน 307.9 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้นจากธุรกิจที่ดินและการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เท่ากับ 94.4 ล้านบาท

 

ขณะที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน - 1 เหงะอาน ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัท เกอร์เท็ก พรีซิชั่น อินดัสทรี เวียดนาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (MEMS) ระดับโลกจากประเทศจีน ได้ซื้อที่ดินจำนวน 253 ไร่จากบริษัทฯ เพื่อสร้างโรงงานสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น หูฟังแอร์พอด เป็นต้น บริษัทฯคาดว่า ยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามปีนี้ จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ปี 2564 บริษัทฯ มีแผนเตรียมการลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในโซน 2 และ 3 ของเฟส 1 เพื่อรองรับนักลงทุนที่สนใจเพิ่มเติม

ธุรกิจสาธารณูปโภค บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภค ในไตรมาส 3 เท่ากับ 493.1 ล้านบาท โดยปริมาณขายน้ำรวมมีการปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นในประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศไทยปริมาณยอดขายในไตรมาสนี้ยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ คาดว่าในไตรมาส 4 ยอดจำหน่ายน้ำจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นจากการกลับเข้าสู่การดำเนินการผลิตปกติของผู้ใช้น้ำและการขยายกำลังการผลิตของลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเคมีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการขยายผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมน้ำอย่างต่อเนื่องโดยโครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของบริษัทฯ จะเปิดดำเนินการผลิต 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ รวมถึงบริษัทฯ ได้มีการลงนามในสัญญาน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) เฟสที่ 2 เพิ่มเติมกับบริษัท GPSC เพื่อจำหน่ายน้ำปราศจากแร่ธาตุอีก 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน

 

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 3 อยู่ที่ 240.6 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลงจากหลายปัจจัย เช่น อัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 10% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากปริมาณยอดขายไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากกลุ่มธุรกิจ SPP และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ตลอดจนการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ Solar เพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมอยู่ที่ 27 เมกะวัตต์ ณ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 42 เมกะวัตต์ ซึ่งจะคิดเป็นรายได้รวมต่อปีกว่า 150 ล้านบาท

 

ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นความสำคัญของการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการให้บริการด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบเน็ตเวิร์ก การให้บริการโครงข่าย FTTx ตลอดจน Cloud และ Managed Service รวมถึงโซลูชั่นต่างๆ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการด้านเทคโนโลยี 5G อีกด้วย