ความคืบหน้านโยบายประกันรายได้ข้าวในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ปีแรก ผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 30 งวด ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 1,102,250 ครัวเรือน จำนวนเงิน กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1,527.70 ล้านบาท โดยวงเงินชดเชย คิดเป็น 92.70% ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติ (20,940.84 ล้านบาท) ปิดฉากประกันรายได้ปีที่ 1 ถือว่าได้ใจชาวนาทั้งประเทศไปเต็มๆ สามารถตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ที่ chongkho.inbaac.com
ปี 2 เซ มรสุมหลายด้าน
เข้าสู่ปีที่ 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ภูเก็ต (3 พ.ย.63) อนุมัติโครงการประกันรายได้ข้าวปี 2563/2564 โดยเคาะประกันรายได้ในอัตราเดียวกับปี 2562/2563 คือข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท,ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ (ข้าวหอมจังหวัด) ตันละ 14,00 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท
อย่างไรก็ดี โครงการประกันรายได้ในปีที่ 2 นี้ มีความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจจะมีเงินไม่พอจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวให้กับชาวนา จากราคาข้าวเปลือกในตลาดเกือบทุกชนิดในเวลานี้ตกต่ำ ขณะผลพวงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ กว่า 1.99 ล้านล้านบาทเพื่อประคองเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งออกภาพรวมของไทยรวมถึงการส่งออกข้าวชะลอตัว จากความต้องการในตลาดลดลง และมีการแข่งขันสูงจากข้าวอินเดีย และเวียดนามที่ราคาถูกกว่าไทย โรงสีขาดสภาพคล่องไม่มีเงินซื้อข้าวกดดันให้ราคาข้าวทุกชนิด เข้าสู่ภาวะตกต่ำอีกรอบ
ล่าสุดโครงการประกันรายได้ข้าว ก็เกิดปัญหาขึ้นระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายทะเบียนเกษตรกรได้ส่งข้อมูล ให้ ธ.ก.ส. โอนเงินให้กับชาวนาในงวดแรก ได้ใส่โค้ดเลขรหัสข้าวผิดชนิดทำให้ต้องเสียเวลาปรับข้อมูลใหม่ โดยข้าวหอมปทุมธานี มีเกษตรกรที่ได้รับโอนเงินเกินต้องส่งคืนจำนวน 2.8 หมื่นราย ขณะที่เกษตรกรกลุ่มข้าวเปลือกเจ้า (ที่ต้องจ่ายขาด) มีอยู่ 3.8 แสนราย (กราฟิกประกอบ) ดังนั้นในรอบแรกที่ ธ.ก.ส.ประกาศวงเงินจ่ายชดเชยเพียง 9,400 ล้านบาท คาดจะต้องจ่ายชดเชยมากกว่านั้น และจะมีผลกระทบกับการจ่ายชดเชยงวดที่ 2 ดังนั้นต้องเคลียร์งวดแรกให้จบก่อนที่จะมีการเคาะราคากลาง งวดที่ 3 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน นี้
สำหรับการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวงวดที่ 2 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิขึ้นทะเบียน 7.8 แสนราย รองลงมา คือข้าวเหนียว 5.8 แสนราย และข้าวหอมมะลิจังหวัดกว่า 1 แสนราย ซึ่งในกลุ่มนี้มีการประกันราคาที่สูง การจ่ายชดเชยในรอบนี้จึงสูงกว่ารอบแรก คือ ข้าวหอมมะลิ จ่ายส่วนต่างที่ 2,996.97 บาทต่อตันตัน ข้าวเหนียว ปรับลดจากงวดแรกเล็กน้อยแต่ก็ยังสูง อยู่ที่ 1,311.01 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิจังหวัด จ่ายส่วนต่าง 2,272.96 บาทต่อตัน
โดยเงินประกันรายได้ข้าวทั้งสองงวด เมื่อคำนวณแล้วปริ่มจากกรอบวงเงินประกันรายได้ที่รัฐบาลอนุมัติกรอบวงเงินโครงการไว้ 2.34 หมื่นล้านบาท(เฉพาะประกันรายได้ชาวนา) อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ได้ขอปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการใหม่ เป็น 4.88 หมื่นล้านบาท (กำลังรอ ครม.อนุมัติ) ซึ่งหากไม่อนุมัติ คาดว่าจะมีปัญหาในการจ่ายชาวนาในรอบที่ 3 แน่นอน
หวังไม่ซ้ำรอยจำนำข้าว
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน นบข. ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการประกันรายได้ข้าว หากกรอบวงเงินใหม่ยังไม่เข้า ครม. เงินที่จะจ่ายให้กับชาวนาก็จะจ่ายไม่ได้ ถึงแม้ว่า นบข.จะอนุมัติไว้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เปรยในที่ประชุม นบข.ว่า ห่วงกังวลว่าเงินจะไม่พอ เพราะ ธ.ก.ส.คนจ่ายเงินก็มีภาระมาก
ทั้งนี้แม้โครงการประกันรายได้ข้าวจะไปลดค่าช่วยเหลือในการเก็บเกี่ยวละปรับ ปรุงคุณภาพข้าว จาก 1,000 บาทต่อไร่ เหลือ 500 บาทต่อไร่ หรือลดไปครึ่งหนึ่ง แต่การใช้งบประมาณก็ยังสูงอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับประกันรายได้ข้าวปีแรก ที่ใช้เงินเบ็ดเสร็จรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็หวังจะไม่ซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ไม่มีเงินจ่ายชาวนา
ขณะที่ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว 2 งวดแรกมีพอ ส่วนงบประมาณที่จะขอเพิ่มเติมเป็น 4.88 หมื่นล้านบาท จะส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความ เห็นชอบในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ คาดการจ่ายเงินจะไม่สะดุดแน่นอน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,629 หน้า 9วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2563