ลุ้น‘บิ๊กตู่’ หลุดนายกฯหรือไม่ คดีบ้านพักทหาร

28 พ.ย. 2563 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2563 | 11:22 น.

 

วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 นี้ เวลา 15.00 น. เป็นอีกวันหนึ่งของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ต้องลุ้น “คำสั่งศาล” ด้วยใจระทึก!!! 

 

เพราะเป็นวันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้นัดตัดสินชี้ชะตาว่าจะ “หลุด” จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 หรือไม่ ในคดี “บ้านพักทหาร”

 

คดีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง(3) หรือไม่ 

 

ที่มาของคดี เกิดจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน ได้ยื่นร้องประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นบ้านพักของทางราชการทหาร เป็นที่พักอาศัยของตนเองและครอบครัว ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าเช่าให้กับทางราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการมาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 

 

จึงอาจเข้าข่ายเป็นการรับประโยชน์ ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 184(3) และเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160(5)

 

 

ลุ้น‘บิ๊กตู่’ หลุดนายกฯหรือไม่ คดีบ้านพักทหาร

 

 

ข้อต่อสู้คดีบ้านพักทหาร  

 

สำหรับคดี “บ้านพักทหาร” นี้ ข้อกฎหมายที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาลงมติวินิจฉัย คือดูจากระเบียบที่เกี่ยวข้องของทหารในเรื่องสวัสดิการบ้านพักต่างๆ เช่น ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ในกองทัพบก พ.ศ. 2553 เป็นต้น        

   

โดยพิจารณาควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญ ในมาตราา 184 (3) ที่ห้าม ส.ส.-ส.ว.รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้ใช้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้วย 

 

ทั้งนี้ฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร โดยที่เกษียณอายุจาก ผบ.ทบ.ไปตั้งแต่ปี 2557 แล้ว และต่อมามีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยมีมาตรา 184 (3) เขียนไม่ให้รัฐมนตรีได้ผลประโยชน์จากหน่วยงานราชการ จึงถือว่าได้รับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ จึงน่าจะขัดรัฐธรรมนูญให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง

 

 

 

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอาศัยบ้านพักของข้าราชการทหาร แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วว่า ถือเป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ 

 

“การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ คือห้ามรับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท การอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการทหารภายหลังเกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปี ย่อมเกินมูลค่า 3,000 บาท อย่างแน่นอน”

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล โดยแนบระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับสวัสดิการบ้านพักทหารเพื่อต่อสู้คดี และได้ยอมรับว่า ได้อยู่ในบ้านพักทหารจริง  

 

ส่วนที่ไม่ไปอาศัยในบ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก เป็นเพราะขณะนั้นบ้านพักพิษณุโลก อยู่ระหว่างการซ่อมแซมปรับปรุง ขณะที่ทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัยประจำตัวให้คำแนะนำว่า บ้านพักทหารที่อาศัยอยู่สะดวกในเรื่องการดูแลความปลอดภัยมากกว่า จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง

 

เช่นเดียวกับ กองทัพบก ที่ได้ส่งหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยฉบับแรกลงนามโดย พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ขณะนั้น และต่อมา เมื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ขึ้นเป็นผบ.ทบ.ก็ได้ส่งหนังสือชี้แจงระเบียบต่างๆ ของกองทัพบกเกี่ยวกับการอยู่บ้านพักทหาร ต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ระบุทำนองว่า การอยู่บ้านพักทหารของอดีต ผบ.ทบ.ที่เกษียณแล้ว เป็นเรื่องของระเบียบที่ได้รับการยกเว้น

 

 

ขณะที่คณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎร ก็เคยเชิญตัวแทนจากกองทัพบกเข้าชี้แจง โดยยกระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการพักอาศัยในบ้านพักทหารปี 2548 ระบุว่า “ผู้ที่จะอยู่ในบ้านพักได้จะต้องเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ทำ คุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบกและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์” ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในบ้านพักตามระเบียบข้อนี้

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงคดีบ้านพักนายกฯ ว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ทุกอย่างต้องรอให้ ศาลตัดสิน 

 

2 แนวทางคำวินิจฉัย

 

สำหรับผลของคดีนี้ หาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดในประเด็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” จะทำให้ “หลุด” จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ต้องเว้นวรรคทางการเมือง เป็นเวลา 2 ปี และจะทำให้รัฐบาลสิ้นสภาพไปด้วย กลายเป็นรัฐบาลรักษาการณ์

 

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผิด ไม่มีพฤติการณ์ที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน ก็ยังนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป

 

“บิ๊กตู่” จะ “รอด-ไม่รอด” 2 ธันวาคมนี้ รอลุ้นด้วยใจระทึก!!! 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,631 หน้า 12 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2563