ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตและมีมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท ต้องหดตัวลงอย่างแรง จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นยาแรงในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งส่งผลให้ค้าปลีกต้องปิดให้บริการชั่วคราวนานเกือบ 2 เดือน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าเท่านั้นแต่รวมถึงร้านอาหาร แฟชั่น ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ
ขณะที่ธุรกิจต่างๆทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน ภาครัฐจึงต้องเดินหน้าด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน เพื่อผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายจากทุกภาคส่วน
จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่า มาตรการของภาครัฐจะสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีกำลังจับจ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” ที่น่าจะช่วยหนุนให้ภาคค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้หดตัวลดลงเล็กน้อยเหลือเพียง 7.2% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 8.9% และทำให้ภาพรวมทั้งปีหดตัวลงประมาณ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขยายโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 2 ที่เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการอีก 5 ล้านสิทธิ์ เพิ่มจำนวนเงินเป็น 3,500 บาท และระยะเวลาการใช้จ่ายเป็น 31 มีนาคม 2564 นั้นเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายให้มากขึ้นถือเป็นปัจจัยบวกที่ต้องจับตา
เช่นเดียวกับมาตรการ ช้อปดีมีคืน ที่พบว่า ช่วยสร้างบรรยากาศภายในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆได้เป็นอย่างดี กับการช็อปปิ้งเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมค้าปลีกในปีหน้ากลับมาคึกคักขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รายได้ ‘ค้าปลีก’ ร่วงระนาว อัดฉีดหนัก ลุ้น Q4 ฟื้น
ค้าปลีกเดือด “ธนินท์-เจริญ” เปิดศึก สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเดอะ มอลล์ , ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจในปีนี้ ยังคงเป็นมาตรการของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับมาตรการเข้มด้านการควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัส โดยมองว่าหลังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ผลจะช่วยสร้างความมั่นใจและปลุกกำลังใจของคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยได้
ขณะที่มาตรการของภาครัฐที่ออกมาในขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี เห็นได้จากโครงการช้อปดีมีคืน ที่ในช่วง 7-10 วันแรกพบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้ 25% ส่งผลให้ยอดขายในแต่ละร้านสูงขึ้น และคาดว่าในไตรมาส 4 จะเพิ่มขึ้นเป็น 35% ขณะที่โครงการคนละครึ่ง ก็ช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กมียอดขายสูงขึ้นเช่นกัน
“ภาพรวมของค้าปลีกในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเริ่มดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 7.8-7.9% หลังมาตรการต่างๆ ออกมาทำให้บรรยากาศการจับจ่ายคึกคักขึ้น รวมทั้งภาคเอกชนทุกส่วน ต่างก็เตรียมจัดกิจกรรมทางการตลาด การลด แลก แจก แถม การร่วมมือกันระหว่างองค์กร (Collaboration) เพื่อสร้างเบเนฟิต เพิ่มความคุ้มค่าในการซื้อ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าออกมาจับจ่าย ทำให้คาดว่าจะกลับมาหดตัวเหลือเพียง 6% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับจีดีพีของประเทศ”
อย่างไรก็ดี ในปี 2564 มีปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ทุกคนยังต้องเข้มกับมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจเองไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน เช่น ยังต้องจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ การเว้นระยะห่าง เป็นต้น
“มองว่าในปีหน้า ภาคธุรกิจต้องวางกลยุทธ์แบบระยะยาว เพราะแม้จะมีปัจจัยบวกทั้งจากวัคซีนที่พัฒนาสำเร็จแล้ว มาตรการของภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เช่น กองถ่ายภาพยนตร์ กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) เป็นต้น ซึ่งรายได้จากคนทั่วโลกที่มาช็อปปิ้งในเมืองไทย ย่อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า เพราะมีการจับจ่ายมากกว่าการซื้อของคนไทยเอง”
ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า บรรยากาศการจับจ่ายซื้อสินค้าเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น เห็นได้จากทราฟฟิคในศูนย์ที่เริ่มกลับเข้ามากว่า 85% จากช่วงเวลาปกติ และบางสาขาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเริ่มกลับมาเกือบ 100% แล้ว ขณะที่ในบางจังหวัดเช่นภูเก็ต มีทราฟฟิคราว 60% สมุย 50%
“การทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) หรือการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐน่าจะส่งเสริมและดำเนินการ เช่น การจับคู่กับประเทศเกาหลี , ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งให้สิทธิพิเศษในการเดินทางระหว่างกัน โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยหรือทำธุรกิจในเมืองไทยได้ แต่อย่างไรก็ดีมาตรการเหล่านี้ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้ที่เดินทางเข้ามา รวมถึงคนไทยด้วยกันเอง”
อย่างไรก็ดีภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 2564 หรือปีฉลู ยังต้องลุ้นต่อว่าหากวิกฤติโควิด-19 ไม่กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง เชื่อว่าสถานการณ์ค้าปลีกใน 6 เดือนจะกลับมาคึกคักและเติบโตเป็นบวก 1-2% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ก่อนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น 3-5% ในครึ่งปีหลัง และทำให้ภาพรวมของค้าปลีกเมืองไทยกลับมาเป็นบวกอย่างน้อย 3-5% อีกครั้งหลังจากที่ปีนี้ต้องติดลบ
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,634 วันที่ 10 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563