12 ธ.ค.2563 - คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยบทความเสวนา Chula Econ Forum หัวข้อ ฝ่าวิกฤติฝุ่น PM2.5 : ปัญหาและทางออก ชี้ฝุ่นจากการจราจรยังเป็นปัญหาหลักของเมืองหลวง สร้างความสูญเสียที่มองไม่เห็นกว่า 4.5 แสนล้านบาท วอนรัฐเก็บข้อมูลจริงจังให้นักวิชาการเข้าถึง เพื่อออกแบบนโยบายตรงจุด
โดยรศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นร้อนในช่วงอากาศเย็นคือ มลพิษที่มาตามฤดูกาล โดยแหล่งกำเนิดหลักในกรุงเทพมหานครมาจากการปล่อยควันเสียจากการจราจร เสริมด้วยมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุม ตึกสูงล้อมรอบและพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับ เมื่อวัดค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีพบว่า อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถลดมลพิษให้อยู่ที่ค่าแนะนำของ WHO ได้ จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนกรุงเทพได้ถึง 75% ดังนั้น การแก้ปัญหาในมุมวิศวกร คือ เริ่มจากจัดการแหล่งกำเนิด แต่หลายองคาพยพต้องช่วยกัน เช่น แนะให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ความถี่และจำนวนรถขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวย ทางเท้าหรือทางจักรยานไม่สะดวกปลอดภัย ในทางปฏิบัติก็ย้อนแย้งกับการรณรงค์ หรือในทางเทคนิคการเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสมัยนี้ทำได้หมด แต่ในเชิงปฏิบัติจริง ต้องมีช่างที่มีองค์ความรู้ มีเรื่องรับรองมาตรฐานความปลอดภัย จดทะเบียน เสียภาษี เมื่อผู้ก่อมลพิษ ผู้รับผลกระทบ ผู้ออกนโยบาย ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ไปด้วยกัน ก็ทำให้เกิดปัญหาคอขวดที่แก้ลำบาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้าน ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การขอความร่วมมืออย่างเดียวประสบความสำเร็จยากมาก คนที่มีเหตุผลจะปรับพฤติกรรมตามแรงจูงใจ ถ้าไม่ออกแบบอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นหน้าที่ภาครัฐที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ ยิ่งเรื่องของฝุ่น เป็นเรื่องที่ไม่มีตลาดมารองรับ เราไม่ได้ซื้อขายฝุ่น จึงไม่มีราคาที่จับต้องได้ นอกจากนี้ คนที่ให้กำเนิดฝุ่นไม่ได้แบกรับต้นทุนทั้งหมด ต้นทุนถูกแบกรับโดยทุกคนในสังคม เช่น คนขับรถที่ใช้น้ำมันดีเซล เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ปล่อยควันเสียออกสู่ภายนอกรถ แต่ในรถมีเครื่องกรองอากาศ คนขับรถก็จ่ายต้นทุนแค่ค่าน้ำมันดีเซล แต่คนแบกรับต้นทุนเชิงลบคือคนที่อยู่บนท้องถนน
ดังนั้น ความจำเป็นของการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นที่จะนำไปสู่การออกนโยบายที่ตรงเป้า คือต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก ปัจจุบันเรามีข้อมูลคุณภาพอากาศ มีข้อมูลการเผาจากภาคเกษตรอยู่บ้างจากจุดความร้อน แต่ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ว่าภาคส่วนไหน ปล่อยแค่ไหน (Emission Inventory) แทบไม่มีเลย ยิ่งข้อมูลเหล่านี้ทำได้เร็ว โปร่งใส และเผยแพร่ได้เร็วเท่าไหร่ นักวิชาการจะสามารถนำมาคำนวณหาผลกระทบได้ทันท่วงที และช่วยเสนอนโยบายที่ตรงจุด หรือแม้กระทั่งช่วยตรวจสอบนโยบายที่ออกมาว่ามีประสิทธิผลคุ้มค่ากับที่รัฐบาลลงทุนไปหรือไม่
ขณะรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงวิธีหนึ่งที่ได้เคยศึกษาวิจัยตามแนวคิด Subjective Well Being ที่สร้างแบบจำลองเพื่อประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย นั่นคือคนยินดีจ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่เพื่อลดระดับมลพิษ และคงไว้ซึ่งความพอใจระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พบว่า คนกรุงเทพยอมจ่าย 5,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เพื่อให้ฝุ่น PM 10 ลดลง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ในกรุงเทพมีปริมาณฝุ่น PM10 อยู่ที่ 24-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีประชากรกว่า 3 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินในปี 2562 ถึง 4.5 แสนล้านบาท สังเกตว่าแม้ในภาคเหนือค่าฝุ่นจะสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่เมื่อรวมประชากร 9 จังหวัดภาคเหนือ ยังไม่สูงเท่าประชากรในกรุงเทพ มูลค่าความสูญเสียในเมืองหลงจึงสูงกว่า หากวัดความเสียหายทั้งประเทศในปี 2562 จะอยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานทุกคนได้รับผลกระทบจากฝุ่น แต่เนื่องจากการวัดคุณภาพอากาศยังไม่มีประสิทธิภาพ บางจังหวัดใหญ่มีแค่จุดเดียว ทำให้ประเมินผลกระทบได้ไม่ตรงจุดมากนัก
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพาณิชวงค์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา อย่างแรกคือสร้างการตระหนักรู้ ให้เห็นถึงโทษและความรุนแรง ส่วนที่สองคือ ควรมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้น และเชื่อมโยงกับแอพที่เข้าถึงภาคประชาชนได้เรียลไทม์ จะช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกันตนเอง และส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับยานยนต์ที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญ ในระยะสั้น ควรเพิ่มความเข้มข้นของการตรวจจับควันดำและสภาพรถยนต์เมื่อต่อทะเบียน ในระยะกลางถึงยาว ต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สูงกว่ายูโร 4 ทุกวันนี้บ้านเรามีนโนบายที่กลับทางกันซึ่งลดแรงจูงใจให้เปลี่ยนรถใหม่ เนื่องจากการต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี ยิ่งรถเก่า ภาษียิ่งถูก ในขณะที่ประเทศมอลตาหรือสโลวาเกียในยุโรป โครงสร้างภาษีรถยนต์ประจำปีคือ รถยิ่งเก่า ภาษียิ่งแพง นอกจากนี้ การปรับปรุงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นก็ช่วยให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัว
ขณะที่ภาคการเกษตร ก็ยังคงประสบปัญหาทั้งจากการเผาในประเทศและฝุ่นพิษข้ามแดน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช มองว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำมากของเกษตรกรในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร คือ จุดไม้ขีดก้านเดียวกำจัดได้ทั้งไร่ หากอยากส่งเสริมเกษตรกรให้นำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ต้องมีการสร้างตลาดให้กับเศษวัสดุ มีแรงจูงใจให้เกษตรกร เช่น ให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข มิฉะนั้น การรณรงค์ให้เกษตรกรจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ ที่ต้องใช้ทั้งแรงงานซึ่งขาดแคลนอยู่แล้ว และใช้เครื่องจักรที่เข้าถึงลำบาก จะเป็นการให้เกษตรกรรับภาระต้นทุนแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ผู้บริโภคก็ยังได้บริโภคสินค้าเกษตรราคาถูกต่อไป ในกรณีภาคเกษตร เราไม่ควรแก้ปัญหาจากผู้ก่อมลพิษ (Producer Play Principle) ที่ชี้เป้าไปที่คนเผาเพียงอย่างเดียว แต่ในเชิงห่วงโซ่อุปทานการเกษตร โรงสีโรงงานก็ได้ประโยชน์ที่เกษตรกรไปอุดหนุน แทนที่จะใช้หลักจากการแก้ปัญหา