สร้าง‘ครูมืออาชีพ’ เทียบสากล ปลดล็อกความก้าวหน้า

01 ม.ค. 2564 | 23:00 น.

สร้าง‘ครูมืออาชีพ’ เทียบสากล ปลดล็อกความก้าวหน้า: รายงาน​​​​​​​หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,641 หน้า 10 วันที่ 3 - 6 มกราคม 2564

ต้องถือว่า “วงการครู” ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบกว่า 1 ทศวรรษ และถือเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 สำหรับครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา 

 

เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีวาระที่สำคัญ คือ เห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

การที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ บอร์ด ก.ค.ศ.เห็นพ้องตรงกันในการเคาะรับร่างใหม่ เรื่องของมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยะฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และต้องยกเป็นวาระสำคัญ เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์เดิมที่วางเอาไว้ในอดีต จะพบว่าเกณฑ์ใหม่นี้ “ครู” จะเห็นช่องทางการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน และสามารถอยู่ในสายการสอนได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าต้องเข้าสู่สายบริหาร ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการขยับเลื่อนตำแหน่ง จะมีความเหมาะสม และมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องทำการปรับเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยะฐานะเดิม มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันรวม 15 ปีแล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบลักษณะงานที่ปฏิบัติ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาสมัยใหม่ อีกทั้งมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยะฐานะของเดิม ยังมีความเหลื่อมล้ำในความก้าวหน้าระหว่างสายงาน (Career Path)

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้คนเก่งเข้ามาเป็นครู และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพตามความสามารถจริง และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยคุณภาพของครู คือ กุญแจสำคัญ และถึงเวลาที่ต้องมีการปรับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะกันอย่างจริงจัง   

 

“การดำเนินการปรับร่างดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้คุณครูทุกท่าน มั่นใจและสบายใจ ผมคิดว่า นี่จะเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคุณครู นี่ถือว่าเป็นแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการ พยายามจะสร้างขวัญกำลังใจให้คุณครู เพื่อให้เห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน และตระหนักว่าเป็นอาชีพที่สำคัญ” นายณัฏฐพล ระบุ

 

นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยํ้าด้วยว่า ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ที่กระทรวงศึกษาธิการ พยายามเร่งปลดล็อก หรือแก้ไขปัญหาให้แก่คุณครู แต่ในขณะเดียวกันทางคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ก็ต้องยอมรับว่าในทุกๆ ขั้นตอน ในทุกๆ ปี หรือ ในทุกๆ ช่วงชั้น ที่จะมีการเลื่อนตำแหน่ง ทุกท่านก็ต้อง มีการพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ หรือหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมไว้

 

 

สร้าง‘ครูมืออาชีพ’ เทียบสากล ปลดล็อกความก้าวหน้า

 

 

“ผมยืนยันว่า ในทุกๆ ตำแหน่งที่คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องการจะขยับขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจะวางแนวทางให้เห็นชัดเจน ในขณะเดียวกันบุคลากรทุกสายงาน ก็ต้องมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะถือว่าเป็นโอกาสสำหรับทุกๆ คน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละท่าน ซึ่งผมเองได้ยืนยันในเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งจะเป็นทิศทางที่ดีสำหรับวงการการศึกษาของไทย” นายณัฏฐพล ระบุ

 

สำหรับมาตรฐานใหม่ในส่วนของมาตรฐานตำแหน่ง ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติให้ทันสมัย สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และมีหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

 

อีกทั้ง ยังได้ปรับปรุงคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ด้วยการส่งเสริมให้ทุกสายงานมีเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งในสายงานของตนเอง และสามารถเปลี่ยนตำแหน่งไปสู่สายงานอื่นได้ โดยคำนึงถึงการสั่งสมประสบการณ์ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าสู่ตำแหน่งอื่น และประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา

 

ส่วนด้านมาตรฐานวิทยฐานะ มุ่งเน้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

 

รวมถึงการมุ่งเน้นในการปรับระยะเวลาการให้มีวิทยฐานะ และเลื่อนวิทยฐานะ ที่กำหนดระยะเวลาเป็น 4 ปี เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าว มีความเหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถ สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ประกอบกับหลักของวาระการดำรงตำแหน่งกำหนดให้อยู่ในวาระในวาระ 4 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการแต่สามารถลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หรือการดำรงวิทยฐานะจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ บุคลากรดังกล่าว ต้องเป็นผู้มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะเทียบกับเกณฑ์ผลการทดสอบ CEFR ที่คุรุสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในการประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ 

 

 

 

อีกทั้งต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ (พื้นที่เกาะ ภูเขาสูง พื้นที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ) เป็นผู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (การได้รับวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น) และเป็นผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิอาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

 

“นอกจากเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวแล้ว ต้องมีผลการประเมินการเลื่อนเงินเดือนระดับดีเด่น 4 รอบการประเมินติดต่อกันด้วย” รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ยังได้กำหนดบทเฉพาะกาลว่า ผู้ใดมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง หรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะเดิมอยู่แล้ว ให้ใช้คุณสมบัติดังกล่าวได้อีก 1 ครั้ง ภายหลังจากหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานใหม่มีผลบังคับใช้

 

ส่วนมาตรฐานของเดิม ให้ใช้เฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาอยู่ก่อนวันที่มาตรฐานตำแหน่งฯ ใหม่ใช้บังคับเท่านั้น และหากข้าราชการครู ดังกล่าวมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของตำแหน่งใดในมาตรฐานตำแหน่งเดิม ก็ให้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นได้เช่นเดิม แต่เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง ให้ยกเลิกมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะเดิม

 

และนี่ก็คือ การปลดล็อกมาตรฐานตำแหน่ง และ มาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน ตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่พร้อมปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อระบบการศึกษาไทย