กกต.เมินศาลรัฐธรรมนูญ เดินหน้าสอบยุบ 6 พรรคต่อ ปม“ทักษิณ”ครอบงำ

23 พ.ย. 2567 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2567 | 07:26 น.

“แสวง”ยันคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ไม่เกี่ยวกับ กกต. ที่ยังเดินหน้าตรวจสอบต่อ ปม “ทักษิณ”ครอบงำ 6 พรรคการเมือง ชี้พิจารณากฎหมายคนละฉบับ แม้มูลเหตุและข้อเท็จจริงเดียวกัน

วันนี้ (23 พ.ย. 67)  นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครองฯ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการใช้เสรีภาพ เฉพาะมาตรา 49 ที่เขียนว่า การใช้เสรีภาพเพื่อการล้มล้างทำไม่ได้ เสรีภาพถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ  ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ นั่นคืออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ  

“นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ กกต. พิจารณาสิ่งที่กฎหมายห้ามกระทำของพรรคการเมือง จะต่างกัน จึงไม่เกี่ยวกันเลยทั้ง 2 เรื่อง ข้อมูล ข้อเท็จจริงอาจเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าเราถือกฎหมายคนละฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญว่า การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เพื่อเป็นการล้มล้าง แต่ กกต. หรือนายทะเบียนฯ จะพิจารณาว่าการกระทำนั้น ผิดกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่”

นายแสวง กล่าวต่อว่า “ผมยกตัวอย่างครั้งที่แล้ว ที่นายทะเบียนไม่รับเรื่องของพรรคก้าวไกลไว้พิจารณา กฎหมายบอกว่าไม่รับไปดำเนินการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ มีนักข่าวมาถามว่าทำไม กกต.ไม่รับ เพราะกรณีนั้นเป็นกรณีใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณาเรื่องเหล่านั้น เกินขอบอำนาจของ กกต.

กกต.ไม่ได้เข้าไปพิจารณาในเนื้อหา แต่ไม่รับไว้ดำเนินการเพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจเรา แต่กรณีหลังมีคนมาร้องว่ามีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมือง  นายทะเบียนก็รับไว้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน จะเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน”

เมื่อถามต่อว่าคำร้องหลายคำร้อง ที่มีลักษณะคล้ายกัน กกต.ยังเดินหน้าตรวจสอบต่อไป นายแสวง กล่าวว่า “เราก็ทำตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเรา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ในระหว่าการตรวจสอบของ กกต. เกิดจากการยื่นร้องต่อ กกต. ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เนื่องจากยินยอมให้ นายทักษิณ เข้าครอบงำ ชี้นำพรรค เป็นการกระทำความผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีความเห็นในเบื้องต้นว่า คำร้องยุบพรรค 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีมูล ฐานยินยอมให้ นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าสอบจะแล้วเสร็จ 

กรณีนี้มีกลุ่มผู้ร้องรวม 4 ราย ได้แก่ บุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 

โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ  หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง 

นอกจากนี้ ยังอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของ นายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณ ที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล 

โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 หากการสอบสวน พบว่าเป็นความผิด จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้