นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดระบาดระลอกใหม่ กำลังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องหาทางนำการผสมผสานเทคโนโลยีพื้นฐาน (Technology Convergence) มาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ข้อมูล และประสานงานระหว่างหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ทำให้ธุรกิจประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
“วิกฤตโควิดสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีประเภทเดียวในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการพาองค์กรให้รอดพ้นสถานการณ์วิกฤต โดยองค์กรต้องผสมผสานเทคโนโลยีหลายประเภทให้สามารถดูแลจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่การดูแลความปลอดภัยของพนักงาน กระบวนการดำเนินงาน การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือเหตุไม่คาดฝัน” นายพชรกล่าว
จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ องค์กรสามารถนำ Internet of Behaviors (IoB) ซึ่งเป็นการผสานรวมเทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนไว้ด้วยกัน เช่น การจดจำใบหน้า ติดตามตำแหน่ง และ Big Data Analytics ไปปรับใช้ในการตรวจจับอุณหภูมิ หรือวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อช่วยประเมินมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน ขณะที่การสร้าง Total Experience ซึ่งเป็นการรวบรวมประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ผ่านเทคโนโลยี Touchless Interface เช่น การสร้างโมบายแอปพลิเคชันนัดหมายลูกค้าผ่านสมาร์ทโฟน มีระบบเช็กอินได้อัตโนมัติเมื่อลูกค้ามาถึง และส่งข้อความแจ้งพนักงานเพื่อให้พูดคุยกับลูกค้า จะสามารถช่วยลดการสัมผัส เพิ่มความคล่องตัวและความปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า
สำหรับในส่วนกระบวนการทำงาน การผสมผสานเทคโนโลยีคลาวด์และสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) เข้ากับระบบการปฏิบัติงานขององค์กร จะทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมรองรับการขยายได้ทุกเมื่อ โดยที่ยังคงความปลอดภัยไว้อยู่
ขณะที่การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ธุรกิจ การนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) มาผสมผสานกับเครื่องมือการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation tools) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจทางธุรกิจให้เป็นไปแบบอัตโนมัติยิ่งขึ้น ส่วนการผสมผสาน DataOps และ MLOps ทำให้การใช้ Machine Learning ในธุรกิจเกิดขึ้นได้จริงและสามารถวัดผลได้ และช่วยเสริมขีดความสามารถของ Machine Learning ในกระบวนการทางธุรกิจได้
นอกจากการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารงานเพื่อผ่านพ้นวิกฤต การผสมผสานเทคโนโลยียังสร้างการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เนื่องจากจะสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ (Use Case) หรือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เช่นกัน โดยการผสมผสานเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคต นำมาซึ่งการเติบโตของผลกำไร และเปิดทางไปสู่การสร้างสินค้าหรือบริการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับเป็นการเพิ่มคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า
สำหรับเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการนำมาใช้งานผสมผสานกัน ได้แก่
1) AR / VR และ 5G
AR / VR เป็นเทคโนโลยีที่มีการผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งาน และทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งจำลองนั้น ซึ่งถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในธุรกิจ ส่วน 5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่ถูกนำมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยสามารถสั่งงานและควบคุมสิ่งต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที สามารถรองรับการรับ – ส่งข้อมูลได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า รวมถึงมีความทนทานต่อความเสียหายทางโครงข่าย (Network Fault Tolerance) มากกว่า 4G
ตัวอย่างน่าสนใจในการนำ AR / VR และ 5G มาใช้ผสมผสานกัน เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดทางไกล ช่วยให้การผ่าตัดทำได้อย่างแม่นยำและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ AR/VR ยังนำไปผนวกกับ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ทำให้กระบวนการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างเสมือนจริงยิ่งขึ้น
2) AI / Machine Learning (ML) และ Cloud Computing
AI คือชุดของโค้ด เทคนิค หรืออัลกอริทึม ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเลียนแบบ พัฒนาและแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ได้ โดยจะมีหน่วย ML ซึ่งทำการฝึกให้อัลกอริทึมได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจจากข้อมูลด้วยตนเอง ส่วน Cloud Computing คือระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถดึงข้อมูลออกมาใช้งานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
สำหรับการนำ AI / Machine Learning (ML) และ Cloud Computing สามารถปรับใช้ได้กับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดย AI สามารถเข้าไปดูแลจัดการระบบกระบวนการทำงานของธุรกิจและช่วยประมวลผลข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบอัพเดทได้แบบเรียลไทม์ ง่ายต่อการนำไปใช้งานและประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีขึ้น
3) Data Science และ Predictive Analytics
วิทยาการข้อมูล (Data Science) คือกระบวนการหาองค์ความรู้ใหม่จากข้อมูลมหาศาล เพื่อใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าต่อธุรกิจหรือองค์กร ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เป็นนำข้อมูลมาใช้ทำนายพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นจะในอนาคต จากการนำข้อมูลย้อนหลังมาประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยในการตัดสินใจในทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคนิคหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น หลักสถิติ การทำโมเดลวิเคราะห์ AI/Machine Learning (ML) และการทำเหมืองข้อมูล โดยปัจจุบัน Data Science และ Predictive Analytics มีการนำไปใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก การผลิต ประกันภัย ธนาคาร บริการทางสาธารณสุขและบริการสาธารณูปโภค เป็นต้น
4) Blockchain
บล็อกเชน (Blockchain) คือระบบโครงข่ายการเก็บข้อมูล (Database) แบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและแชร์ข้อมูลดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้
สำหรับตัวอย่างการใช้ประยุกต์ใช้บล็อกเชนที่เห็นได้ชัดคือในภาคอุตสาหกรรมการเงิน-ธนาคาร ที่ผสมผสานบล็อกเชนเข้ากับ AI ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการซื้อขายและทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อขั้นตอนการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลงตามไปด้วย อีกทั้งการตัดตัวกลางออกจากระบบยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมั่นในตัวกลางของผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ นายพชร ระบุว่า ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนเทคโนโลยีหลายอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับมือกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขององค์กร ดังนี้
1) ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ บุคลากรทุกฝ่ายในองค์กรต้องรับทราบและตระหนักถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะคอขวด (Bottleneck) หรือเติบโตช้า เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด
2) บุคลากรทุกคนต้องมีความเป็น R&D ในตนเอง คือมีทัศนคติที่พร้อมจะคิดค้นและทดลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ว่าแต่ละเทคโนโลยีมีจุดเด่น – จุดด้อยอย่างไร และเกิดการจินตนาการว่าการจับคู่ของเทคโนโลยีใดมีโอกาสทำให้ธุรกิจเกิด Use Case ใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา
3) ริเริ่มวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้เกิดการทดลอง (Culture of Experimentation) เพื่อสร้างบรรยากาศในการคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ เกิดการลองผิดลองถูก และพร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้นำเสนอความคิดด้านการปรับใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนต่อการพัฒนาธุรกิจ
“บทเรียนสำคัญของภาคธุรกิจคงต้องเริ่มจากการปรับมุมมองว่าเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงและช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจได้ แต่ต้องยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและการทำความเข้าใจเทคโนโลยีหลากหลายประเภทในเวลาสั้นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ‘บลูบิค’ ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ และให้คำแนะนำด้านการลงทุนพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด นับเป็นทางลัดสำหรับธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างการเติบโตด้วยเทคโนโลยี” นายพชร ทิ้งท้าย