หลายคนมีความกังวลว่าการไม่มี “แอปพลิเคชั่นหมอชนะ” จะเป็นโทษทางกฎหมายหรือไม่ หรือบางคนการที่จะติดตั้งหมอชนะนั้นอาจจะมีปัญหาหลายๆอย่าง ทั้งเรื่องพื้นที่ความจำ ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 เวลา 11.30 น. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงชี้แจงรายละเอียดกรณีนี้ว่า เรื่องของโทษนั้น จะเกิดโทษก็ต่อเมื่อมี 2 ข้อประกอบกันคือ เป็นผู้ติดเชื้อ และปกปิดข้อมูล ถ้าผู้ติดเชื้อจำไม่ได้ว่าตนเองไปที่ไหนมาบ้าง การที่มีแอปหมอชนะอยู่ก็จะช่วยให้พ้นการปกปิดข้อมูลได้
แต่ถ้าติดเชื้อมาแล้วแต่จงใจปกปิดข้อมูล หรืออาจจะเป็นในกรณีจำไม่ได้ แอปพลิเคชั่นหมอชนะก็ไม่มี ก็จะต้องดำเนินการตามโทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การใช้หมอชนะถือว่าเป็นตัวเลือกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และสะดวกมากขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงในเรื่องของการจำไม่ได้ว่าเราเคยเดินทางไปไหนมาบ้างแล้ว
นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุด้วยว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้รู้สึกดีใจมากที่เห็น ตัวเลขยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ มีคนดาวน์โหลดในวันที่ 8 ม.ค.เพียงวันเดียวเพิ่มขึ้นมา 2 ล้านครั้ง จะว่าอะไรก็ไม่ว่า แต่พอเมื่อวานนี้วันเดียวเพิ่มขึ้นไป 2ล้านกว่า
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการระบาดของโรคมีการแพร่หลายมากขึ้น หมอชนะมีความสามารถที่จะติดตาม มีคิวอาร์โค้ดเป็นของตัวเองเพื่อแสดงตัวตนและความปลอดภัยของตนเอง
การใช้แอปพลิเคชั้นหมอชนะทำให้สามารถรู้ได้ทันทีว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง เช่น มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในสถานที่ที่หนึ่งซึ่งทุกคนในนั้นก็มีหมอชนะหมด กรมควบคุมโรคทราบว่าหนึ่งในกลุ่มคนนั้นติดโรคขึ้นมา กรมควบคุมโรคก็จะสามารถเช็คได้ว่าใครมีความเสี่ยงและใกล้ชิดกับคนๆนี้ ซึ่งคิวอาร์โค้ดของผู้ที่ใกล้ชิดหรือมีความเสี่ยงนั้นก็จะเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลืองกับสีส้ม ตามความใกล้ชิดทันที
เมื่อคิวอาร์โค้ดเปลี่ยนสีแล้วนั้น ก็ควรที่จะไปหาหมอ หรือกักตัว14วัน ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวประชาชนเองซึ่งทำให้รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
และสถานการณ์แบบนี้ หมอชนะก็จะช่วยให้บุคคลากรทางการแพทย์รู้คนในกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อนั้นว่าเป็นใคร สามารถลงพื้นที่ตามตรวจได้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น และยังสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้เร็วขึ้นอีกด้วย
โดยแอปพลิเคชั่นหมอชนะนี้ ยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัย ข้อมูลของประชาชนไม่หลุดออกไปแน่นอน และที่สำคัญคือหมอชนะช่วยให้ผู้ที่ใช้เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ต้องมาเล่าเรียงเวลาว่าไปไหนมาบ้างเพราะข้อมูลจะอยู่ในตัวหมอชนะหมดแล้ว
หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ เดินทางออกจากหรือเข้าพื้นที่ควบคุม ก็สามารถให้เจ้าหน้าที่ระหว่างด่านตรวจดูได้ว่าตนเองนั้นมีคิวอาร์โค้ดเป็นสีเขียว ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจเองสบายใจว่าเราไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กที่นี่ เงื่อนไข เข้า-ออก "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" 28 จังหวัด