วันนี้ (12 ม.ค.64) พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย พร้อมด้วย พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกันแถลงผลการทลายโกดัง ลักลอบแบ่งบรรจุถุงมือใช้แล้ว ย่านลำลูกกา
ทั้งนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) สืบทราบว่า มีการลักลอบผลิต ถุงมือทางการแพทย์ภายในโกดังย่านลำลูกกา จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี เข้าตรวจค้น พบคนงานกำลังคัดแยกถุงมือยางและถุงมือไนไตรล์ที่มีสภาพเหมือนถุงมือใช้แล้ว บรรจุลงกล่องที่มีสัญลักษณ์ทางการแพทย์ขายเป็นถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อ NA เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางถุงมือรอการคัดแยก 654 กระสอบ กล่องบรรจุภัณฑ์ 3 หมื่นกล่อง
ถุงมือรอบรรจุ ถุงมือพร้อมจำหน่าย และอุปกรณ์การผลิตไว้ทั้งหมด รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามการระบาดโควิดระลอกสอง บก.ปคบ. ได้ดำเนินการตามนโยบายนับตั้งแต่เกิดวิกฤติรอบใหม่ บก.ปคบ. ได้มีการตรวจยึดถุงมือยางทางการแพทย์ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นความผิดรายใหญ่ได้จำนวน 2 ราย และได้มีการจัดชุดออกประชาสัมพันธ์ร้านค้าเป็นจำนวนมาก และขอให้ประชาชนช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสารมาที่ตำรวจ บก.ปคบ. โทร. 1135 ได้
เภสัชกรหญิงสุภัทรากล่าวว่า ช่วงสถานการณ์ โควิดระบาดรอบใหม่ทำให้การลักลอบผลิตถุงมือรายใหญ่กลับมาอีกครั้ง กรณีนี้มีการแสดงฉลากระบุสัญลักษณ์เกี่ยวกับโรงพยาบาลและฟัน ซึ่งอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจผิดได้ จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือสายด่วน อย. 1556 ก่อนตัดสินใจซื้อ และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.)ได้ทุกวันในเวลาราชการ