นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ.2565 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายกรัฐมนตรีฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Application) ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งเอเปค ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เวียดนาม และรัสเซีย
ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเอเปคเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการกับสมาชิกเอเปคที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมกรอบความร่วมมือเอเปค (APEC) หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในปี 2565
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยประจำปี 2565 แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับนโยบาย ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี ซึ่งในส่วนระดับปฏิบัติการ ได้แก่ กลไกคณะทำงานด้านการเกษตรภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค 5 คณะทำงาน ประกอบด้วย
1. หุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก
2. คณะทํางานว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation Working Group: ATCWG) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก
3.กรอบการหารือเชิงนโยบายระดับสูงว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร (High Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก
4. คณะทํางานด้านมหาสมุทรและการประมง (Ocean and Fisheries Working Group: OFWG) โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก และกรมประมง เป็นหน่วยงานสนับสนุน
5. คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการทําให้ได้มาตรฐาน กรอบความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) - Food Safety Cooperation Forum (FSCF) โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสนับสนุน พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องข้างต้น ประสานงานในการเตรียมการเป็นเจ้าการประจัดประชุมเอเปค ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีลงนามในคำสั่ง ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565
องค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติฯ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดัน 5 พืช กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สน ไผ่ ป้อนโรงงานไฟฟ้าชีวมวล
"ประภัตร" ดัน 8 ร่างมาตรฐานใหม่ ลดนำเข้า รุกส่งออก
ปลุกระดมแบน “ยี่ปั๊วยาง” ขี้โกง
“เงินประกันรายได้ยางพารา” ทบ 2 งวด เงินเข้าแล้ว เช็ก ธ.ก.ส. ด่วน
รวบแก๊งค้า-ชำแหละเนื้อม้า ขายส่ง ตปท.