การประเมินดัชนีค้าปลีก ปี 2020 หรือ ปี 2563 ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่สรุปตัวเลขออกมาว่า ติดลบ 12% ถือเป็นการติดลบ 2 หลักเป็นครั้งแรก และต่ำสุดในรอบ 11 ปี จากปัจจัยสำคัญ คือ “โควิด-19” ที่สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทยและทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ฉุดให้เม็ดเงินสูญหายไปราว 5 แสนล้านบาท จากมูลค่าอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งไทยที่มีเกือบ 4 ล้านล้านบาท
หากย้อนไทม์ไลน์ ของ “ค้าปลีก” เมืองไทย จะพบว่า ในช่วง 2 เดือนแรก “มกราคม-กุมภาพันธ์” ยังมีการเติบโตสูง ต่อเนื่องจากไฮซีซั่นของตลาด ที่มีบิ๊กอีเว้นต์ทั้งเคาต์ดาวน์ และตรุษจีน แต่ย่างเข้า “มีนาคม” ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต่อเนื่องจนถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงทำเงินจาก “ซัมเมอร์” ต้องหยุดชะงักไป โดยเฉพาะการประกาศ “ล็อกดาวน์” เป็นระยะเวลา 50-60 วันย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
และทำให้ กรกฏาคม-สิงหาคม-กันยายน กลายเป็นช่วงของการเฝ้าระวัง พร้อมปรับแผนเพื่อเดินหน้าในไตรมาส 4 ซึ่งผลตอบรับก็เป็นบวก เมื่อ “มูด” นักช็อปเริ่มฟื้นกลับมา ทำให้ยอดขายในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมกลับมาคึกคัก ส่งสัญญาณดี แม้จะยังไม่พีคเท่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายย่อยยิ้มได้ ก่อนที่จะต้องชะงักงันอีกรอบเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงโค้งท้ายของปี
โดยภาพรวม สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ประเมินตัวเลขออกมาพบว่า แม้ไตรมาส 4 บรรยากาศการจับจ่ายจะเริ่มดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ อาทิ ช้อปดีมีคืน, คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ดัชนีดีขึ้นแต่อย่างใด
“อุตสาหกรรมค้าปลีกผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ในไตรมาสที่ 3/2563”
สืบเนื่องมาจากการบริโภคที่ชะลอตัว ในทุกหมวดสินค้าที่ลดลงอย่างมีนัยยะ ไม่ว่าจะเป็นหมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์กีฬา รวมถึงสินค้า TELCO หรือ Mobile และ Tablet ซึ่งมีมูลค่า 39% ของส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ทั้งหมด ที่พบว่าทั้งปีหดตัวลงถึง 23% หมวดสินค้า Major Domestic Appliance เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ อาทิ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ หดตัว 14% แม้ว่าหมวดสินค้า IT จะได้อานิสงส์จากการทำงานที่บ้าน (WFH) แต่ก็เป็นสัดส่วนไม่มาก ส่วนวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งและซ่อมบำรุง ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ศูนย์การค้าจึงหดตัวลง 15% ส่งผลให้ภาพรวมสินค้าหมวดคงทนมีการเติบโต -15%
ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) อาทิ สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ลักชัวรี่แบรนด์ ฯลฯ ได้รับผลกระทบจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป และการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้คนตื่นตระหนก ผนวกการล็อกดาวน์ ห้างสรรพสินค้า ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเกินกว่า 50% จะได้ผลกระทบมากถึง 30-40%
แม้ว่าไตรมาส 4 จะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” แต่ก็ไม่สร้างแรงกระเพื่อมมากนัก ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แต่ร้านค้าปลีกก็ต้องอัดกิจกรรมส่งเสริมการขายควบคู่ไปด้วย ทำให้ภาพรวมสินค้าหมวดกึ่งคงทน มีการเติบโต-18%
ส่วนยอดขายหมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) อาทิ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แม้จะมีการอุปโภคบริโภคต่อเนื่อง แต่พบว่ามีการเติบโต - 6.5% แสดงให้เห็น่า กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับปานกลางถึงล่าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งมีสัดส่วนราว 60% ของประชากรทั้งประเทศยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ ราคาพืชผลเกษตรที่ยังตกต่ำ หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์สูง
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนถึงผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 2564 ว่า ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกปีนี้น่าจะดีกว่าปี 63 เล็กน้อย แต่จะยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับปี 62 โดยไตรมาสแรก ที่เกิดการระบาดระลอกใหม่คาดว่าจะทำให้ค้าปลีกติดลบ 7-8% ขณะที่ทั้งปีคาดว่าจะเติบโตติดลบ 4-10% หรืออาจจะแย่กว่านี้ ถ้าไม่มีปัจจัยใดเข้ามากระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัว ดังนั้นภาครัฐควรจะมีวัคซีนมากระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี , การให้ซอฟ์ทโลนกับเอสเอ็มอี ฯลฯ
รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสินค้าอี-คอมเมิร์ซ การลดภาษีสินค้าลักชัวรี การเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างทั้งเกษตรกร ชุมชนและ SME มากขึ้นด้วย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564