เปิดข้อเท็จจริงของ “วัคซีนแอสตราเซเนกา”

19 ม.ค. 2564 | 09:20 น.

“หมอนคร” ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดทุกรายละเอียด ยัน ความร่วมมือ "แอสตราเซเนกา-สยามไบโอไซเอนซ์" ไร้ประโยชน์แอบแฝง ติง คนวิพากวิจารณ์ตรวจสอบข้อมูลมากกว่านี้ ไม่ควรโยงสถาบัน ทำให้ ปชช.เข้าใจผิด

19 มกราคม 2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวัคซีนโควิด-19 ภายหลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า กล่าวถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และโจมตีรัฐบาลเรื่องดำเนินการจัดหาวัคซีนล่าช้าและไม่ครอบคลุมประชากรว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่างจากสถานการณ์ปกติจะใช้ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมไม่พอ เพราะเป็นการบริหารจัดการในภาวะที่มีความเร่งด่วนและไม่แน่นอน ซึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สถาบันวัคซีนฯ จัดหาวัคซีนต้องใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบ ต้องดูรูปแบบการพัฒนาวัคซีนว่าเป็นอย่างไร มีแนวโน้มจะนำมาใช้ในไทยได้อย่างไร ไม่ใช่พิจารณาแค่ชื่อบริษัท หรือตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว

 

ก่อนยกตัวอย่างกรณีของ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” ว่า เป็นการจองซื้อโดยมีข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับไทย คนที่จะมารับในช่วงเวลาเร่งด่วนต้องพร้อมที่สุด มีความสามารถมากที่สุด และบริษัทมั่นใจมากที่สุด โดยมีการทบทวนคุณสมบัติต่างๆในไทย ไม่ใช่เพียงรายเดียว แต่มีเพียง “สยามไบโอไซเอนซ์” เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบของ Viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่จะเลือกบริษัทเอกชนรายใดมาทำก็ได้

 

แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมของของกระทรวงสาธารณสุขเอง ศักยภาพก็ยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม คนที่จะมาสอนก็ต้องไม่เสียเวลามากเกินจนไปเพราะมีความเร่งด่วน

 

แอสตราเซเนกา เป็นผู้คัดเลือก เกิดจากเรามีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับเครือ SCG และเครือ SCG ก็ได้เจรจาดึงให้ แอสตราเซเนกา มาประเมิน สยามไบโอไซเอนซ์ ขณะเดียวกันแอสตราเองก็มีนโยบายขยายฐานกำลังการผลิตไปทั่วโลก และต้องการกำลังการผลิตจำนวนมาก ระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป หลังจากพิจารณาจึงเข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ต้องการ

การที่ไทยได้ข้อตกลงในการทำงานลักษณะนี้นั้น หลายประเทศอยากได้ในทำนองนี้ พยายามจะแข่งให้ได้รับคัดเลือกแต่ด้วยความพยายามของพวกเราที่ทำงานเป็น “ทีมประเทศไทย” พวกเราเจรจาและแสดงศักยภาพให้เห็น รวมทั้งรัฐบาลก็แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน พัฒนาศักยภาพ สยามไบโอไซเอนซ์ ให้สามารถมาผลิต Viral vector vaccine ได้ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท และ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือต่างๆ ให้พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะและได้รับคัดเลือก

 

เป็นความพยายามที่ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน นึกอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เราต้องมีพื้นที่ฐานเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ และทรงวางแนวทางว่า บริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล รายได้ หรือผลกำไรในแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นการขาดทุนเพื่อประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิต ลดการนำเข้ามูลค่ามากกว่าส่วนที่ขาดทุน คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นการสนับสนุนบริษัทที่มีการขาดทุนซึ่งไม่ใช่ เพราะเป็นตามหลักปรัชญาที่ รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้และทำมาต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้ทำไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดสเช่นนี้ และรัฐบาลยังให้เจรจาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

ขอเรียนว่า ไม่ต้องกังวลว่า เราจะไม่มีวัคซีนเพียงพอ มีเพียงพอแน่สำหรับความต้องการของทุกคน เพราะเราสามารถจะผลิตได้เอง แม้จะเป็นสิทธิในการจำหน่ายของ "แอสตราเซเนกา" แต่อยู่บนฐานความร่วมมือ อีกทั้งเราจะพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตหากมีการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่เกิดขึ้น 

 

ดังนั้น การที่ "สยามไบโอไซเอนซ์" เข้ามาร่วมทำงานในลักษณะทีมประเทศไทย เป็นเรื่องต้องน่าสรรเสริญ เพราะต้องหยุดการผลิตเดิมทั้งหมด มาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน 7 วัน 24 ชั่วโมง ให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย เราได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่ต้นน้ำ "แอสตราเซเนกา" ส่งวัคซีนมาให้เพียง 1 cc เราต้องขยายกำลังการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก เจ้าหน้าที่สยามไบโอไซเอนซ์ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดให้เป็นไปตามแผน และมั่นใจว่า เราจะได้วัคซีนแน่ และคุณภาพวัคซีนตรงตามที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกากำหนด

นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนฯ ยังได้ของบประมาณเพื่อการสนับสนุนช่วยหน่วยงานในประเทศเพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศให้ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบสนับสนุนวิจัยพัฒนาโควิด-19 เพื่อเป็นกำลังสำรองและมั่นใจว่า มีวัคซีนในมือเพื่อให้มีเป็นของเราเอง และหน่วยงานไบโอเทค ของ สวทช. ก็กำลังพัฒนา Viral vector vaccine จากห้องปฏิบัติการเอง หากทำได้แล้วมาเชื่อมต่อกับสยามไบโอไซเอนซ์ เราก็จะผลิตเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เทคนิค ศักยภาพทั้งหมดเพื่อให้มีวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทย และวัคซีนที่ตั้งไว้ 50% เป็นเป้าเฉพาะปี 64

 

ขอย้ำว่า วัคซีนมีเพียงพอ เพียงแต่ตอนนี้เป็นการใช้ในภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจจะมีข้อเสีย อยากจะเรียนให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือผู้ที่มีข้อมูลไม่ครบ ต้องใช้ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่านี้ แล้วเราจะเห็นว่า บางประเทศที่มีการใช้วัคซีนไปก่อนหน้าก็เริ่มมีรายงานการเจ็บป่วยจากวัคซีน จะสะท้อนเรื่องความมั่นใจต่อการใช้วัคซีน ถ้าเรารีบร้อนนำมาใช้และจะเกิดความไม่ปลอดภัย เพราะเราใช้วัคซีนกับผู้มีสุขภาพแข็งแรง ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัย

 

จริงอยู่อาจจะมีเรื่องผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ แต่เป็นผลข้างเคียงที่ยอมรับได้โดยทั่วไปอันนั้นไม่เป็นไร แต่ผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรง ข้อนี้เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง การรีบร้อนโดยที่ไม่ใช้ข้อมูลอย่างเต็มที่ โดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี ใจเร่งอยากจะใช้เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดผลเสียก็เป็นได้

 

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ใช้ความพยายามที่จะประสานงานขอข้อมูลจากผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยให้และมีประสิทธิภาพให้กับพี่น้องประชาชนไทยและในจำนวนที่เพียงพอ

 

ขอให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ช่วยกรุณาใช้ข้อมูลให้ครบถ้วน อย่าใช้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว หรือข้อมูลตามที่นึกคิดเอาเองตามประสบการณ์เดิมๆโดยไม่ใช้ข้อมูลแวดล้อมที่ครบถ้วน เพื่อลดความเข้าใจผิดของประชาชน 

 

การซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา จ้าง สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิต แต่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วยนั้นไม่เคยเกิดมาก่อน ถ้าไม่มีต้นทุนดีก็ทำไม่ได้ การที่ขายให้ไทยอยู่บนพื้นฐาน คือ ไม่มีกำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน เพราะขายราคาทุนให้เรา ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ ต้องผลิตตามคำสั่งซื้อแอสตราเซเนกาในราคาทุน และก็ขายกลับมาในราคาทุน เราทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีน และนี่เป็นราคาถูกสุดในท้องตลาดเวลานี้ เมื่อไม่มีกำไรจึงไม่มีประโยชน์เคลือบแฝง สะท้อนต้นทุนที่เป็นต้นทุนการผลิตจริงๆ

 

ส่วนเรื่องเงินทุน 595 ล้านบาทจากรัฐบาล สยามไบโอไซเอนซ์ ได้เขียนไว้ในสัญญาการรับทุนว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของแอสตราเซเนกา จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับทุนที่ได้รับจากสถาบันวัคซีนฯ คืนให้กับรัฐบาลไทย จึงไม่ใช่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อลดข้อสงสัยต่างๆ ในการสนับสนุนเอกชนจึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญาการรับทุนว่า จะคืนวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยด้วย ดังนั้น ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรไปโยงกับสถาบันที่เคารพรัก ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวสรุปทิ้งท้าย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เผย วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” อย.จะรับรองภายในสัปดาห์นี้

ศบค.ห่วงสถานการณ์โควิด "สมุทรสาคร-กทม.-ชายแดนใต้"

ข่าวดี“นครปฐม” ไม่พบติดโควิดเพิ่ม เหลือรักษาอยู่ 1 ราย

"ศิริราช"ชี้แจงผู้ติดเชื้อโควิด-19  ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์

เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 171 ราย