นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีการเปรียบเทียบข้อมูลความรุนแรงของการระบาดในรอบแรกปี 63 และรอบใหม่ปี 64 โดยพบว่า ในรอบแรกมีผู้ป่วยรวม 4,237 คน เสียชีวิต 60 คน คิดเป็นอัตราการตาย 1.42% โดยผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด และโรคปอด ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในปีนี้ มีผู้ป่วยรวม 8,416 คน เสียชีวิต 11 คน คิดเป็นอัตราการตาย 0.13% ดังนั้น จึงถือว่าการระบาดในรอบใหม่นี้มีความรุนแรงน้อยกว่ารอบแรก
นพ.ทวีศิลป์ ยังตอบคำถามถึงกรณี"ดีเจมะตูม" ติดเชื้อโควิด-19 ว่า จะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์วงการบันเทิงหรือไม่ว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่ก็ขอชื่นชมดีเจมะตูม ที่เมื่อทราบว่าติดเชื้อแล้ว ได้รีบเปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งจะพบว่าตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบันได้มีการเดินทางไปยังหลายสถานที่ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเข้าไปใกล้ชิดกับดีเจมะตูม สามารถประเมินได้ว่าตัวเองเป็นผู้มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญ คือ คนที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจะต้องให้ความสำคัญกับการแยกกักตัวด้วย เพราะถ้าไม่กักตัวแล้วมีจำนวนผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
พร้อมย้ำว่า การใช้เฟซชิลด์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยป้องกันโควิดได้ เพราะแม้จะเฟซชิลด์คลุมทั้งใบหน้า แต่ก็ไม่ได้แนบชิดเหมือนกับการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ละอองฝอยจากการไอหรือจามยังสามารถเล็ดลอดออกมาได้ ซึ่งทำให้ยังสามารถรับเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นหากจะใช้เฟซชิลด์ก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยร่วมด้วย
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า กรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมาก แม้พื้นที่จะไม่มาก แต่มีจำนวนประชากรอยู่สูง ประกอบกับการเดินทางที่สะดวก คล่องตัว และเป็นศูนย์กลางของประเทศ จึงไม่แปลกที่จะพบว่ามีเคสผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ เชื่อมโยงไปสู่หลายจังหวัดทั่วประเทศได้ ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปได้
"ถ้าจะบอกว่ากรุงเทพฯ เป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เกิดการควบคุมโรคได้ไหม ขอมองอีกมุม เราต้องคุมที่กรุงเทพฯ ด้วย เพราะการเดินทางง่าย ผู้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด และใกล้ชิดกัน ดังนั้นต้องมีการวางแผนและดูแลในส่วนนี้" โฆษก ศบค.กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้ข้อมูลว่า จากการระบาดรอบใหม่นี้ กทม.โดยสำนักอนามัย ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการลงพื้นที่เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแล้วถึง 41,508 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 60 ราย ซึ่งขณะนี้พบว่าการติดเชื้อเริ่มมีความเชื่อมโยงออกไปหลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งสถานบันเทิง การขนส่งสาธารณะ ติดเชื้อในครอบครัว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวเองอย่างเข้มข้นต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.กำลังติดตามแนวโน้มการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังทรงตัว และยังไม่ได้วางใจ ดังนั้นในช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. ยังจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเข้มข้นต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในการดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ศบค.จะประชุมประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อนสิ้นเดือนนี้ว่าแต่ละพื้นที่จะสามารถผ่อนคลายมาตรการได้มากน้อยเพียงใด
"ความเข้มงวดจะต้องต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ชุดข้อมูลต่างๆ นี้ จะนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เสี่ยงทั้งหลาย ที่ต้องมาวางแผนกันอีกใหม่รอบ ผอ.ศบค.จะประชุมกันก่อนสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ ศบค.ชุดเล็กและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องวางแผนแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ว่าจะมีการผ่อนคลายหรือเข้มงวด ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึง 31 ม.ค. ขอฝากทุกคนว่าเข้มกันตอนนี้ จะได้สบายในเดือนหน้า" โฆษก ศบค.ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดติดเชื้อโควิด 21 ม.ค.64 รายใหม่ 142 ในประเทศ 125 หายป่วยเพิ่ม 221 ราย
เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 142 ราย
เปิดไทม์ไลน์ "ดีเจมะตูม" ติดเชื้อโควิด-19
"ชลบุรี" แรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 1 ราย
"นนทบุรี"เปิดไทม์ไลน์ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 2 ราย ชาย 1 หญิง 1