กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง2 และ ง3 ผังเมืองรวมเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร รองรับการขยายตัวของเมือง แก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน Special Economic Zone (SEZ) สอดรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จังหวัดมุกดาหาร เป็นเมืองแห่งการค้าและการท่องเที่ยวที่มีพรมแดนติดเขตแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดผ่านแดนบริเวณมิตรภาพไทย - ลาว ทำให้มีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านงานทาง ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและการพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว การรองรับการขยายตัวของเมือง และแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง
สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน SEZ ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ง2 และ ง3 ผังเมืองรวมเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเป็นแนวถนนกำหนดให้ก่อสร้างใหม่และถนนเดิมกำหนดให้ขยายเขตทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการ (ถนนสาย ง2) เริ่มต้นจากถนนวิวิธสุรการ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปตามถนนวิวิธสุรการ (ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2029) ตัดผ่านถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (ถนนชยางกูล) ไปทางทิศตะวันตกตัดผ่านถนนลาดยางสายตาดแคน - หนองหอย (มห.2027) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้บรรจบกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดถนนสาย ง2 ระยะทางประมาณ 3.078 กิโลเมตร
ในส่วนของจุดเริ่มต้นถนนสาย ง3 เริ่มต้นจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ต่อจากถนนสาย ง2 ไปทางทิศใต้ไปตามถนนซอยพลธิราช ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านถนนวงศ์คำพา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านห้วยจรเข้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออก ไปตามถนนสุทธิมรรคตัดผ่านถนนศรีบุญเรือง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สายบ้านเขามโนรมย์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปบรรจบกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2034 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดถนนสาย ง3 และเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ระยะทางประมาณ 4.457 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 7.535 กิโลเมตร ถนนสายดังกล่าวมีความกว้างเขตทางตั้งแต่ 30 - 50 เมตร ลักษณะของถนนแยกออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
- ปรับปรุงถนนเดิม ช่วง กม.ที่ 0+000 - กม.ที่ 0+905 โดยใช้โครงสร้างผิวจราจรเดิม (คอนกรีตเสริมเหล็ก) overlay ด้วยแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีไหล่ทางและทางจักรยาน พร้อมระบบระบายน้ำ
- แนวถนนตัดใหม่และขยายแนวเขตทางถนนเดิม ช่วง กม.ที่ 0+917 ถึง กม.ที่ 3+079 ช่วง กม.ที่ 4+700 ถึง
กม.ที่ 5+700 และ ช่วง กม.ที่ 6+829 ถึง กม.ที่ 7+535 ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีไหล่ทางและทางจักรยาน พร้อมระบบระบายน้ำ
ปัจจุบัน ทช.ได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงสร้างทางดินถมคันทาง งานระบบระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2565 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 372.780 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง