“เมียนมาไปไม่ไกล”

05 ก.พ. 2564 | 12:04 น.

อีกหนึ่งมุมมองต่อสถานการณ์ "รัฐประหาร" ในเมียนมา ที่ทั่วโลกจับตามอง

และแล้วทหารเมียนมาก็เข้ามายึดประเทศคืนจากการที่ลองปล่อยให้ประเทศ อยู่ในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ ค.ศ. 2011 หลังจากการบริหารโดยพลเรือนอยู่เกือบ 10 ปี

 

ล่าสุดเหตุผลที่ “ทหาร” ยอมรับไม่ได้คือ มี “การทุจริต” เลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่นางอองซาน ซูจี วีรสตรีเมียนมา นำพรรค NLD ชนะถล่มทลายกว่า 80%

 

รัฐธรรมนูญประเทศเมียนมา เปิดช่องไว้ครับ มาตรา 417 อนุญาตให้รัฐประหาร (แบบนุ่มนวล) โดยประกาศภาวะฉุกเฉิน (1 ปี) (จากนั้นค่อยว่ากัน)

 

นี่เป็นประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเมียนมาๆ นะครับ ห้ามเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา เจ้าโลกเด็ดขาด

อองซาน ซูจี

ที่นั่นขนาดประธานาธิบดี ผู้ทรงอำนาจ และมีเสียงคนชื่นชอบอีกหลายสิบล้าน ออกมา “โวยวาย” และ “ต่อสู้” ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดี “โกง” และ “สกปรก” ทหารของเขาจะเอารถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์จากเงินภาษีประชาชนมายึด “อำนาจ” หาทำได้ไม่

 

“รัฐธรรมนูญ” และ “กฎเกณฑ์” ของเขาไม่ได้ให้ “ตู่” กันง่ายๆ สมแล้วที่ใครขึ้นมา ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศว่า จะรักษาความเป็นประชาธิปไตย จะรักษา รัฐธรรมนูญ ที่สมควรรักษา

 

“รัฐธรรมนูญ” ของเขาศักดิ์สิทธิ์

 

ที่สำคัญน่าจะเป็นเพราะ พลเมืองอเมริกันมี “การศึกษา” ถือเอา “การศึกษา” เป็นใหญ่ คนของเขาเชื่อใน “การศึกษา” เพิ่มความรู้และเอื้อการทำงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนงานชั้นต่ำ กรรมกร คนขับรถแท็กซี่ คนทำถนนหนทาง ฯลฯ เชื่อว่า “ความรู้” จะทำให้ตนเองมีสิทธิหางานดีๆขึ้นไปเรื่อยๆ

 

อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังความเจริญของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

“นอกจากความนิยมใน “การศึกษา” ประเทศนี้เป็นประเทศใหม่ ซึ่งชาวยุโรปได้เข้ามาตั้งรกรากและตั้งเนื้อตั้งตัว หักร้างถางพง”

 

“ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค... และด้วยเป็นประเทศใหม่ การถือชาติชั้นวรรณะต่างๆจึงไม่มี ทุกคนรู้สึกว่ามีฐานะเท่าเทียมกัน มีโอกาสเท่ากันในการที่จะก้าวหน้า “คนที่พยายามเขยิบฐานะให้ดีขึ้น” ก็ไม่มีใครรู้สึกรังเกียจ...” (“เจ้าโลก” : มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

 

จะสังเกตว่าประเทศอเมริกานิยม HEROES นิยม “คนเก่ง” ยิ่งเก่ง ยิ่งนับถือ

 

(เทียบกับบางประเทศที่ผู้ประพันธ์ละครดึกดำบรรพ์ วิเคราะห์ให้ผมฟังนานมาแล้ว บางประเทศติดนิสัย “เจ้าขุนมูลนาย” ตั้งแต่ยุคกรุงเก่า คือเห็น “คนด้อย” ก็เอามาชุบเลี้ยง พอ “ได้ดี” แล้วกลับไป “อิจฉา” ประเทศเหล่านี้ไม่นิยม “คนเก่ง” ดูกีฬาก็ชอบเชียร์ “มวยรอง” (ฮา))

 

การรัฐประหารเงียบ (ตาม “รัฐธรรมนูญ” ที่ร่างเองก่อนลงจากอำนาจ เอื้อให้ทำได้) ของเมียนมา ในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2021 คงไม่เงียบใน “กระแสโลกปัจุบัน”

 

“สังคมโลก” เริ่มส่งเสียงโวยวาย แน่นอนประธานาธิบดี JOE BIDEN ได้รับ BRIEFED จาก NATIONAL SECURITY ADVISOR และ ALARMED

 

UN HUMAN RIGHTS WATCH คงไม่พลาดโอกาสที่จะแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าว ซึ่งแน่นอนหลายๆ สถานทูตของยุโรปได้จับตามองประเด็น HUMAN RIGHTS ของประเทศคู่ค้า (ซึ่งด้อยพัฒนา) มาเป็นเวลาพอสมควร

 

“HUMAN RIGHTS VS MILITARY JUNTA” ระหว่าง “ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ” ยังคงทันสมัย

 

แถลงการณ์ของทำเนียบขาว ฉบับแรกที่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจน

“จะยืนข้างประชาชนเมียนมา” ซึ่งได้อดทนตลอดมาในการใฝ่หา “ประชาธิปไตย” และ “สันติภาพ”  ทหารพม่าในยุคนี้จะ “ปิดประเทศ” ด้วย “ฝ่ามือ” และ “อาวุธ” คงไม่ได้ง่าย เป็นเรื่องแปลกที่ผ่านมา

 

รัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี สามารถบริหารสถานการณ์โควิด 19 และเศรษฐกิจภายใต้โรคระบาดได้ดี และได้รับเสียงนิยมในการเลือกตั้งให้กลับมากว่า 80%

 

ปัญหาโควิดหนักหนา ปัญหาเศรษฐกิจสาหัส ทำไม “ทหาร” จึงอยากขึ้นมา “บริหารประเทศ”

 

ต้องจับเข่าคุยกับผู้นำคนใหม่ ผบ.สูงสุด พลเอก มิน อ่อง หล่าย นัยว่าเคารพ “ป๋าเปรม” และถือเป็น “ลูก (บุญธรรม)ป๋า” คนหนึ่ง ท่านมิน อ่อง หล่าย เคยให้สัมภาษณ์ชื่นชม “ป๋าเปรม” และ อ้างว่า “ป๋า” สอนไว้  2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ประชาธิปไตยต้องเป็นของประเทศตนเอง เรื่องสองคนไทยเราน่าจะคุ้นๆ... “เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน”

 

เราท่านก็ต้องติดตามตอนต่อไป 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

CALL OF THE COLD 

‘วัคซีน’ปีใหม่

‘ROSE GARDEN’

สมานฉันท์ : แดง น้ำเงิน 

MULAN วีรสตรีจีน