‘อินทัช’ โชว์ผลประกอบการกำไรหมื่นล้าน

10 ก.พ. 2564 | 08:13 น.

อินทัช เผยผลประกอบการปี 63 กำไรสุทธิ 11,048 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลครึ่งปีหลังอีก 1.35 บาทต่อหุ้น

        นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2563 อินทัช มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,048 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 11,083 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรที่ลดลงของเอไอเอส เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด 19 และการแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้าที่สูงขึ้น รวมทั้งรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ลดลง ส่วนไทยคมมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น พลิกจากการรับรู้ผลขาดทุนมาเป็นกำไร 211 ล้านบาท เนื่องจากไทยคมมีบันทึกการด้อยค่าทรัพย์สินดาวเทียม และรับรู้รายได้จากเงินชดเชย  ทั้งนี้ อินทัชยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่ที่บริษัทได้รับจากบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลังหักค่าใช้จ่าย โดยกำหนดจ่ายปันผลครึ่งปีหลังหุ้นละ 1.35 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่23 กุมภาพันธ์ 2564 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2564 ทำให้ในปี2563 บริษัทจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้นในอัตรา 2.50 บาทต่อหุ้น

        เอไอเอส-ถือครองคลื่นความถี่ 4G และ 5G ครอบคลุมมากที่สุดในไทยรองรับการใช้งานของลูกค้าในยุคดิจิทัลไลฟ์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงมีการแข่งขันทางการตลาดเพื่อแย่งชิงลูกค้าที่สูงขึ้นส่งผลให้เอไอเอสมีผลกำไรสุทธิในปี2563 ที่ไม่รวมผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า (TFRS16) อยู่ที่ 28,423 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงร้อยละ 6.5 เพราะผู้ใช้บริการลดลงมาอยู่ที่ 41.4 ล้านราย แต่ในทางกลับกันรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 22 เพราะมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตที่ต้องเรียน และทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนราย รวมจำนวนผู้ใช้บริการ ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 1.3 ล้านราย 

     ทั้งนี้ในส่วนของรายได้อื่นๆ ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการใช้งานด้าน Cloud และ ICT ของลูกค้าองค์กรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนในการดำเนินงานใกล้เคียงกับปี 2562 เนื่องจากยังมีการลงทุนโครงข่าย 4G และ 5G ในปี 2563 ที่ 35,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ที่มีคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศไทย ครบทุกย่านความถี่ ตั้งแต่ย่านความถี่ต่ำ 700 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ ย่านความถี่กลาง 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และย่านความถี่สูง 26 กิกะเฮิรตซ์ 

ไทยคม -จับมือพันธมิตรขยายธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดาวเทียม

       ในปีที่ผ่านมา ไทยคมมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 514 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปี 2562 ที่ 2,250 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายการพิเศษ ซึ่งในปี 2562 ไทยคมมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวน 1,946 ล้านบาท โดยเป็นการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ดาวเทียมเป็นหลัก ขณะที่ปี 2563 มีการรับรู้รายได้พิเศษจำนวน 649 ล้านบาท โดยเป็นการรับรู้รายได้อื่นจากเงินชดเชยเป็นหลัก 

      ขณะที่รายได้จากการขายและการให้บริการในปี 2563 อยู่ที่ 3,557 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของรายได้จากธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก โดยรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปลดลงร้อยละ 16 จากปี 2562 เนื่องจากการยุติการใช้บริการของลูกค้าบางส่วนจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ทำให้อัตราการใช้งานดาวเทียมทั่วไป (ที่ไม่รวมดาวเทียมไทยคม 5) ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 64 จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่ร้อยละ 55  ส่วนอัตราการใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์อยู่ที่ร้อยละ 19 ลดลงจากร้อยละ 23 ณ สิ้นปี 2562 เนื่องมาจากการสิ้นสุดสัญญาการใช้บริการและการลดการใช้งานของลูกค้าต่างประเทศบางราย 

     จากสภาวะการชะลอตัวของอุตสาหกรรมดาวเทียม ไทยคมจึงมุ่งหาพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดาวเทียม โดยจัดตั้ง 2 บริษัทใหม่ขึ้น ได้แก่บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (เนชั่น สเปซ) ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวกับดาวเทียม และบริษัท เอทีไอ เทคโนโลยี จำกัด (เอทีไอ) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนเพื่อการเกษตร  

อินเว้นท์ – เน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล 

        ในปี 2563 อินทัชลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นธุรกิจเกิดใหม่และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ภายใต้โครงการอินเว้นท์ รวม 5 บริษัท คือ บริษัทดาต้าฟาร์ม จำกัด ธุรกิจเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ผู้ให้บริการทดลองเจาะระบบ และบริการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ลูกค้าองค์กร บริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิตเต็ด ธุรกิจเทคโนโลยีประกันภัยสมัยใหม่(InsurTech) ให้บริการเทคโนโลยีประกันภัยดิจิทัล บริษัท พาโรนีม ธุรกิจเทคโนโลยีวิดีโอเชิงโต้ตอบ (Interactive Video Technology) ที่ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มเป็นเงิน(Point Exchanges & Redeem Platform) และบริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด ผู้ให้บริการซอฟท์แวร์และคำปรึกษาด้านการก่อสร้างและซ่อมบำรุงผ่านระบบคลาวด์ และเทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things (IoT)

       รวมทั้งได้ลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้ว 3 บริษัท คือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด และบริษัท อีเว้นท์ ป็อป โฮลดิ้งส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ทำให้จำนวนเงินลงทุนรวมในปี2563 อยู่ที่ 279 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้ขายหุ้นที่ลงทุนในบริษัท โซเชี่ยล เนชั่น และบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเว้นท์ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 975 ล้านบาท และมีบริษัทที่อยู่ในพอร์ตรวมทั้งสิ้น 18 บริษัท 

        อินทัช ยังคงเดินหน้าหาการลงทุนใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยลงทุนในธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และขยายการลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมทั้งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับกลุ่มอินทัช เพื่อเข้าถึงโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G คลาวด์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ เทคโนโลยีอัจริยะต่างๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

ข่าวที่กี่ยวข้อง

“อินทัช” ดับเครื่องชน รัฐ สู้ยิบตาค่า ไทยคม 5 วงเงิน 1.2 หมื่นล้าน

"เท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์" โบกมือลาจากอินทัช มีผล 1 ก.พ.นี้

"อินทัช" และพันธมิตรร่วมทุน "พาโรนีม" สตาร์ทอัพญี่ปุ่นรายแรก รวมมูลค่า 200 ล้านบาท