ย้อนรอยชะตากรรม “บิ๊กโจ๊ก” ก่อนคัมแบ็ค สตช.

09 มี.ค. 2564 | 13:09 น.

ย้อนรอยชะตากรรม“บิ๊กโจ๊ก” ถูกเตะเข้ากรุทำเนียบฯ ก่อนคัมแบ็คสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

กลับมาเป็นข่าวให้ฮือฮาอีกครั้ง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งให้ “บิ๋กโจ๊ก-พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับเข้ารับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.ป โดยระบุว่า “ไม่ใช่ลงนาม แต่เป็นเรื่องการทำงานที่โยกมา เมื่อสอบแล้วยังไม่ได้ข้อยุติก็ส่งกลับไป และไปสอบต่อที่โน่น”

สำหรับเส้นทางของ “บิ๊กโจ๊ก”  ถือเป็นตำรวจที่เติบโตมาในเส้นทาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเลื่อนตำแหน่งเป็นสารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกับการ 5 จ.เชียงใหม่ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ก่อนไปเป็น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา บ้านเกิด

ไม่นานก็ขึ้นเป็น รองผู้บังคับการจังหวัดสงขลา และ ผู้บังคับการศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า ดูแลพื้นที่ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพยา จ.สงขลา 4 อำเภอพื้นที่สีแดง ดูแลความไม่สงบต่อเนื่องชายแดนใต้

บทบาทหน้าที่นี้ทำให้ได้รับสิทธินับอายุราชการแบบทวีคูณ สำหรับใช้นับอาวุโสในการแต่งตั้ง ทำให้เขาได้ขึ้นเป็น “นายพล” นอกวาระการแต่งตั้งปี 2557 เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาปี 2558 ขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว สร้างผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และ ในการแต่งตั้งวาระปี 2559 ขยับเป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ (ผบก.สปพ.)

กระทั่งปี 2560 มีการปรับโครงสร้างตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว “บิ๊กโจ๊ก” ได้ขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรจท่องเที่ยว ก่อนที่ในปี 2561 “บิ๊กโจ๊ก” ได้ติดยศ พล.ต.ท. เป็น ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ซึ่งตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรจ ระบุว่า เมื่อเป็นผู้บัญชาการ 1 ปี จะสามารถขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเมื่อเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. 1 ปี จะสามารถขึ้นเป็นรองผบ.ตร. หรือ จเรตำรวจแห่งชาติ

 

แต่ปรากฏว่า “บิ๊กโจ๊ก” กลับถูกคำสั่งเด้งประจำ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) และถูกคำสั่งให้ขาดจากทุกตำแหน่ง ทุกหน่วยเฉพาะกิจที่มีการจัดตั้งขึ้น และยังถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้ขาดจากตำแหน่งและอัตราเงินเดือนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ช่วงหนึ่งของชีวิต  "บิ๊กโจ๊ก" ได้ลาบวชไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย หลังกลับมาก็เก็บตัวเงียบ กระทั้งเกิดกระแสข่าว “คลิปหลุด” ออกมาทำนองโยนหินถามทาง “บิ๊กโจ๊ก” กลับมาใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เรื่องก็เงียบหายไป

และในเวลาต่อมา ได้ยื่นศาลปกครองกลาง ฟ้อง นายกรัฐมนตรี และ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่า นายกฯในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งโอนย้ายออกจากากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้พิจารณาดำเนินการสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสังกัดเดิม

แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองไม่รับฟ้อง เหตุยื่นฟ้องเร็วไป และ ยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย

จนล่าสุดวันนี้ (9 มี.ค.64) “บิ๊กโจ๊ก” กลับมาเป็นข่าวใหญ่ในวงการ “สีกากี” อีกครั้ง เมื่อ “บิ๊กตู่” เซ็นส่งตัวกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                                                    พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ในวันยื่นฟ้องนายกฯ ที่ศาลปกครอง

สำหรับขั้นตอนการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญกลับมารับราชการตำรวจนั้น ตามระเบียบและหลักการจะต้องพิจารณาจากพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการโอนข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการตำรวจหรือการโอนพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 31 และมาตรา 63

โดยในข้อ 4 ของกฎ ก.ตร. ให้ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานที่มีผู้ยื่นคำขอโอนพิจารณาการรับโอนโดยคำนึงถึงอายุตัว อายุราชการ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความชำนาญงานของผู้ขอโอนเปรียบเทียบกับข้าราชการตำรวจผู้รับราชการในหน่วยงาน และประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสำคัญ

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การรับโอนผู้นั้นมารับราชการทางสังกัดแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อทางราชการให้เสนอตำแหน่งชั้นยศ และอัตราเงินเดือนที่จะใช้รองรับการโอน พร้อมทั้งรวบรวมรายละเอียดข้อมูล หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติการรับราชการ และประวัติส่วนตัวหน้าที่การงานของตำแหน่งที่จะรับโอน เหตุผลความจำเป็นที่ต้องรับโอน ไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา

โดยผู้ที่จะกลับเข้ามารับราชการตำรวจ จะต้องสมัครใจยื่นแบบฟอร์มคำขอโอนมารับราชการตำรวจ หลังจากนั้นในขั้นตอนของการพิจารณาบัญชีเทียบตำแหน่ง ข้าราชการตำรวจกับพลเรือนสามัญ โดยจะคำนึงจากอายุตัว ความสามารถ ความชำนาญ ซึ่งมีเงื่อนไขจะต้องไม่สูงกว่าอัตราเงินเดือนเดิม โดยจะต้องผ่านขั้นตอนของก.ตร.พิจารณา

หลังจากนี้จะต้องจับตาการโอนย้ายกลับมาของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ในครั้งนี้ ซึ่งปัจุบันอยู่ในตำแหน่งระดับ นักบริหารระดับสูง ว่าจะโอนย้ายกลับมาในตำแหน่งเทียบชั้นยศ พล.ต.ท. ในตำแหน่งระดับเดิม ผู้บัญชาการ เท่าตอนถูกย้ายไป หรือขยับสูงขึ้น เป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอำนาจในการพิจารณารับโอน เป็นของก.ตร. โดยพิจารณาจากอัตราเงินเดือน ประสบการณ์ ความเหมาะสม กฎหมาย และตำแหน่งที่ว่างอยู่ หรือไม่อย่างไร

ชะตาชีวิตของ “บิ๊กโจ๊ก” รุ่ง แล้ว ร่วง แต่ต่อนี้ไป อาจะเป็น “ขาขึ้น”อีกครั้งของเขาหรือไม่ น่าสนใจยิ่งนัก...

++++++

เส้นทาง "บิ๊กโจ๊ก" 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เกิดเมื่อ 29 ต.ค.2513 ที่ จ.สงขลา ปัจจุบันอายุ 51 ปี

-เรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา 

-เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) รุ่นที่ 31 

-โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 47 เป็นประธานรุ่น นรต.47  

- ก.พ.2537 เป็นรองสารวัตร เป็นอยู่ได้ 6 ปี 1 เดือน ก่อนขึ้นเป็นสารวัตร 

- เป็นสารวัตรได้ 4 ปี 8 เดือน ขยับเป็นรองผู้กำกับการ อยู่ 4 ปี ขึ้นเป็นผู้กำกับการ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ติดยศ พ.ต.อ. 

- เป็นผู้กำกับการอยู่ได้ 4 ปี 1 เดือน ขยับเป็นรองผู้บังคับการ เมื่อ 6 ธ.ค.2555 ในตำแหน่ง รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา พ่วงหน้าที่ดูแลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจ.สงขลา ส่วนหน้า ดูแลพื้นที่ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา จ.สงขลา 4  ด้วยหน้าที่ ส่งให้ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับสิทธินับอายุราชการแบบทวีคูณ ทำให้ ได้ขึ้นเป็นผู้บังคับการติดยศ พล.ต.ต. ด้วยวัยเพียงไม่ถึง 45 ปี

- 23 ก.ค.2558 ในยุคของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็นผบ.ตร. ได้เป็นผู้บังคับการ ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าประสานนายกรัฐมนตรี

-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ทำหน้าที่นายตำรวจประสานงานใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ บิ๊กป้อม รองนายกรัฐมนตรี คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ในตอนนั้น) จาก--

-ไม่นาน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในปีเดียวกัน( 2558)

-ปี 2559 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์  ขยับเป็น ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 

-ปี 2560 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ที่มีอาวุโสลำดับที่ 76 ได้รับการเสนอชื่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. ขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และโยกมานั่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว  

-ต.ค. 2561 ขยับเป็นผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ติดยศ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ในวัย 48 ปี 

-ต้นปี 2562 ถูกย้ายฟ้าผ่าเข้ากรุงสำนักนายกรัฐมนตรี  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :