กรมสรรพากร ได้ขยายระยะเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านออนไลน์ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย 2564 และกรณียื่นแบบกระดาษสามารถยื่นได้ถึง 31 มี.ค. 2564 นี้ เท่านั้น สำหรับปี 2563 กรมสรรพากรได้กำหนดรายการหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนต่างๆ ไว้ เพื่อลดภาระของยอดภาษีที่ต้องนำส่ง โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว/ครอบครัว
1) ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
2) ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้)
3) ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ได้ลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 60,000 บาท (เกิดปี 2561 เป็นต้นไปสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน)
4) ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ลดได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
5) ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ กรณีพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (กรณีมีพี่น้องหลายคน จะใช้สิทธิ์ได้แค่คนเดียว)
6) ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี คนละ 60,000 บาท
กลุ่มที่ 2 กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ / อสังหาริมทรัพย์
1) ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
2) โครงการบ้านหลังแรก (ปี 59) ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
3) โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
หมายเหตุ : ผู้ที่ใช้สิทธิ “คนละครึ่ง” จะไม่สามารถใช้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน” โดยช้อปดีมีคืนเริ่มตั้งแต่ 23 ต.ค. 63-31 ธ.ค. 63
กลุ่มที่ 3 กลุ่มเงินบริจาค
1) เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
2) เงินบริจาคเพื่อการศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลรัฐ* และ สภากาชาดไทย* สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน (* เฉพาะ e-Donation เท่านั้น)
3) เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
กลุ่มที่ 4 กลุ่มประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ
1) เบี้ยประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริง หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
2) เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาท (แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตในข้อ (1) แล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท) คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
3) เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
4) ประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 5,850 บาท
กลุ่มที่ 5 กลุ่มการลงทุน
1) กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
(ที่ซื้อในช่วง 1 เม.ย.63 -30 มิ.ย. 63)
2) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
3) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
4) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
5) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
6) กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูเอกชน ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท (สามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดไว้กับนายจ้าง)
หมายเหตุ : ค่าลดหย่อนลงทุนในข้อ 2-6 รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท
โดยปกติแล้ว นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ของพนักงานในแต่ละเดือนและนำส่งกรมสรรพากรให้ เมื่อครบปี นายจ้างจะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ คือ เอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษี และแสดงข้อมูลรายได้ว่าได้มาจากที่ใดและจำนวนเท่าไหร่บ้าง เป็นเอกสารที่ผู้มีเงินได้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีเงินได้ หรือ ภงด 90/91 ภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดไปจากปีภาษี สามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ที่ กรมสรรพากร >> https://epit.rd.go.th/publish/index.php
ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์ , กรมสรรพากร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยื่นแบบฯเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สรรพากรเปิดชำระด้วยวิธีใดบ้าง
"คนโสด-คนมีคู่" มีรายได้เท่าไรต้องยื่นแบบฯภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ยื่นภาษี "เงินรายได้ประเภทใดต้องเสียภาษี" สรรพากรไขข้อสงสัย
ยื่นภาษีภ.ง.ด.90/91ไม่ทัน "เสียภาษี"ไม่ครบ เช็กค่าปรับสรรพากร
เคลียร์ชัด"ยื่นแบบภงด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต" เตรียมพร้อมก่อนยื่นภาษีปี63
"ขอคืนเงินภาษี" สรรพากรไขข้อสงสัยคำถามยอดฮิต เช็กได้ที่นี่