“สันติ” สั่งการยาสูบจับมือ อภ. ผลิตกัญชา-กัญชง ส่งแปรรูปเป็นยา

21 มี.ค. 2564 | 12:08 น.

“สันติ” สั่งการยาสูบฯ จับมือองค์การเภสัชกรรม ผลิตกัญชา-กัญชง แปรรูปเป็นยา หวังเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวยาสูบ หลังรายได้หดจากการปรับภาษียาสูบ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้การยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.) ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ในการผลิตกัญชาและกัญชง เพื่อส่งให้องค์การเภสัชฯ นำไปใช้ประโยชน์ โดยอาจนำไปแปรรูปเพื่อเป็นยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีจะทำให้ชาวไร่ยาสูบมีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจาก ยสท. ลดปริมาณการรับซื้อใบยาจากชาวไร่ เนื่องจากยอดขายของการยาสูบลดลงจากผลกระทบโครงสร้างภาษียาสูบใหม่

“สันติ” สั่งการยาสูบจับมือ อภ.  ผลิตกัญชา-กัญชง ส่งแปรรูปเป็นยา

ทั้งนี้ในปัจจุบันตามกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถปลูกกัญชาและกัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอื่นๆที่ไม่ใช่เป็นสารเสพติดได้ แต่ผู้ปลูกจะต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วขออนุญาตจากทางการ ซึ่งหากชาวไร่ยาสูบ สามารถปลูกกัญชาหรือกัญชง ทดแทนใบยาสูบได้ จะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยรายได้ต่อไร่ของการปลูกใบยาสูบอยู่ที่ประมาณ 23,000 บาท ขณะที่รายได้จากการปลูกกัญชา อยู่ราว 150,000 บาท/ไร่ โดยการปลูกกัญชาหรือกัญชงนั้น จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ ยสท. เพื่อไม่ให้เล็ดรอดไปใช้ประโยชน์ด้านเป็นสารเสพติดได้

 

“การปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่ขายใบยาสูบให้กับ ยสท.ลดลง จากที่เคยซื้อใบยาจากชาวไร่ 30 ล้านกิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 13 ล้านกิโลกรัมต่อปี ส่วนกำไรต่อซองของยสท. ที่เคยได้รับ 5-6 บาท/ซอง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อซองเท่านั้น” รัฐมนตรีช่วย ก.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ จำเป็นต้องพิจารณาทั้งแง่บวกและแง่ลบ เพราะหากปรับลดภาษีลงมามากอาจถูกองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ที่ต่อต้านการสูบบุหรี่และองค์การอนามัยโลก (WHO) ร้องเรียนได้ ทั้งนี้ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ อยู่ที่สองอัตรา ( 2 Tier) คือ กรณีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 60 บาท/ซอง อัตราภาษีอยู่ที่ 20% และกรณีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 60 บาท/ซอง อัตราภาษีอยู่ที่ 40 %