ผู้จัด-สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่โต้ "งานสาดสี"ทำตามเกณฑ์สาธารณสุข พร้อมรับผิดชอบหากติดเชื้อโควิด-19จากกิจกรรมพร้อมดูแลการรักษาพยาบาล ชี้ให้จัดงานตามแนวคิดสร้างเชียงใหม่เมืองพหุวัฒนธรรม รองรับการท่องเที่ยวยั่งยืน
วันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ พาวิลเลี่ยน ไนท์บาซาร์ เชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงานสาดสีเชียงใหม่ นำโดย พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ นายดนัย สารพฤกษ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข เทศบาลนครเชียงใหม่ นายฤทธี คุรุสิงห์ ผู้จัดงาน และนายนฤชิต ไชยรัตน์ ผู้จัดการ พาวิลเลี่ยน ไนท์บาซาร์ เชียงใหม่ ได้แถลงข่าวกรณีสื่อมวลชนบางสำนัก ตำหนิการจัดงานเทศกาลสาดสี เชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Holi Festival 2021 งานเฉลิมฉลองของชาวอินเดียในเชียงใหม่ ป้ายสีใส่กัน ว่า การ์ดตก และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยยืนยันว่า การจัดงานทำตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดและพร้อมรับความเสี่ยงหากติดเชื้อ
งานสาดสีเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Holi Festival 2021 งานเฉลิมฉลองของชาวอินเดียในเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่บริเวณลานพาวิลเลี่ยน ย่านไนท์บาร์ซ่า ถนนช้างคลานเชียงใหม่ พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ชี้แจงว่า คณะกรรมการจัดงานเทศกาลสาดสีเชียงใหม่ ยืนยันการจัดงานทำตามมาตรการ กระทรวงสาธารณสุข จำกัดผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน 50 คนเท่านั้น
สาดสี FINEDAY at Night BaZaar เกิดมาจากกิจกรรมของงาน FINEDAY at NightBaZaar หรือถนนคนเดินวันศุกร์ของไนท์บาซาร์ ซึ่งเป็นโครงการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงมติว่าในเมื่อไนท์บาร์ซ่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งช้อปปิ้งในเวลากลางคืน ที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่มานาน มีผู้ประกอบการเกือบ 2,000 ราย ที่ประสบปัญหามาในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาดเชื้อ โควิด -19 เพราะฉะนั้นควรที่จะมาฟื้นฟูไนท์บาซาร์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แสวงหาแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาในจังหวัดเชียงใหม่ โดวได้รับฉันทานุมัติจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) จังหวัดเชียงใหม่ ให้เราเป็นเจ้าภาพมาทำในส่วนนี้ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเคาน์ดาวน์ ที่ผ่านมา จนเจอวิกฤตโควิดรอบใหม่ก็หยุดไป และเริ่มมาเปิดถนนคนเดินอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์และทุกวันศุกร์
สาเหตุที่มีการจัดเทศกาลสาดสี เนื่องจากทางชมรมอินเดียเชียงใหม่ ซึ่งมาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มานานและมีคนอินเดียจำนวนมาก ต้องการมาจัดกิจกรรมที่นี่ในชื่อ ”โฮลี เฟสติวัล” ซึ่งเป็นเทศกาลสาดสี เป็นตรุษของชาวอินเดีย ซึ่งไม่เคยจัดในที่สาธารณะมาก่อนมาเลยในเชียงใหม่ ทุกปีจัดตามบ้าน ตามสมาคม ปีนี้เห็นโครงการ FINEDAYatNightBaZaar จึงขอมาร่วมในการจัดโดยทางชมรมอินเดียเชียงใหม่
ทางคณะกรรมการมีความเห็นว่า เชียงใหม่มีที่ทำการกงสุลอินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่ และพี่น้องชาวอินเดียก็อยู่ที่เชียงใหม่หลายพันคน ประกอบธุรกิจสร้างเศรษฐกิจของเชียงใหม่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นชอบ ประกอบกับการจัด FINEDAY at Night BaZaar วางธีมรายเดือน เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดเทศกาลตรุษจีน มีการเชิดสิงโต การแสดงมังกร เพราะฉะนั้นในเดือนมีนาคม เป็นตรุษอินเดีย เดือนเมษายน เป็นตรุษไทย จึงเห็นพ้องต้องกันว่า เทศกาลสาดสี เข้ากับธีมของถนนคนเดินไนท์บาซาร์ ให้แตกต่างจากถนนคนเดินทั่วไป โดยมีการขอนุญาต และทำเอ็มโอยู กับเทศบาลนครเชียงใหม่อย่างถูกต้อง ทำตามข้อตกลงทุกอย่าง มีการคัดกรองสองชั้น มีเชือกกั้น ไม่ได้จัดกลางถนน จัดพื้นที่เป็นสัดส่วน ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัว ไม่มีน้ำ และเป็นพื้นที่โล่ง
จุดที่มีภาพออกไปแล้วไม่สบายใจนั้น เป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีของพิธีกรรมในการสาดสี ที่เห็นว่าบางคนที่อยู่ในภาพไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้น หลายคนเป็นนักแสดง แต่เมื่อเกิดความกังวลใจขึ้นเช่นนี้ ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ขอรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น และเราได้ตกลงกันแล้วว่า หากหลังจากการจัดงานแล้ว ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หากผลการสอบสวนโรค แล้วมีไทม์ไลน์ว่ามาจากร่วมกิจกรรมตรงนี้ ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จะรับผิดชอบในการเยียวยาและการรักษาพยาบาลให้
ด้านนายฤทธี คุรุสิงห์ ผู้จัดงาน ตัวแทนของชมรมอินเดียเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วก็จัดงานในพื้นที่ของเราที่อำเภอแม่ริม มีคนมาร่วม 100 กว่าคน พื้นที่เรามี 14 ไร่ ที่มาจัดงานในปีนี้เพื่อต้องการส่งเสริมให้ถนนไนท์บาร์ซ่า เป็นถิ่นที่เรียกว่าพาหุวัฒนธรรม ซึ่งนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่บอกว่าเรามีปีใหม่ เรามีตรุษจีน เรามีตรุษล้านนา ตรุษไทย สิ่งที่เราขาดหายไปคือตรุษอินเดีย ถ้าเราทำแบบนี้ได้ เราจะมีปฏิทินเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนเมษายนไปตลอด
การจัดงานสาดสี จะทำให้ผู้คนทั้งโลกเห็นว่าล้านนาเชียงใหม่ เป็นดินแดนที่สามารถรองรับทุกคน ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา เราเข้าใจดีว่าความเสี่ยง มีเรื่องของโควิด เราทำตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ที่ไปเซ็นต์ MOU กับทางราชการมา เราก็ปฏิบัติตามมาตรการนั้นอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข ส่วนช่วงที่สาดสีมีเวลาแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น ผู้ที่มาร่วมงาน จะลงมาร่วมแค่สาดสี พอสาดสีเสร็จก็เข้าสู่ช่วงหลักของงาน นักแสดงประมาณ 10 คนที่เต้น จนถึง 4 ทุ่มปิดเวที ทุกคนก็จะกลับ
นายฤทธี กล่าวว่า อีกว่า เทศกาลสาดสี หรือมินิสงกรานต์แบบอินเดียครั้งแรกในประเทศไทยที่เชียงใหม่ ก่อนเริ่มสาดสี มีพิธีบูชาไฟ และเต้นรำสรรเสริญฮาเรกฤษณะ จากชมรมชาวอินเดียในจังหวัดเชียงใหม่ ไฮไลท์ของงานนี้ คือ กิจกรรมสาดสี(แบบผงแห้ง ๆ ไม่ผสมน้ำ) และมีมาตรการขอความร่วมมือให้ใช้วิธีปาสีใส่กัน แบบไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัว และใช้สี Food Grade เราใช้วิธีการป้องกันให้มากที่สุดในสิ่งที่เราทำตามมาตรฐาน
"ถ้าหากยังไม่มั่นใจ หรือเห็นว่าสิ่งที่เราทำยังไม่ดีพอ ก็พร้อมรับประกันในความเสี่ยงนั้นให้ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราพร้อมที่จะดูแลให้ เพื่อให้เชียงใหม่เริ่มการเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมแบบเปิดเผย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ทุกชาติ ทุกศาสนา ด้วยมาตรการป้องกันทางด้านสุขภาพอย่างดีเยี่ยม”
ตรงนี้ต่างหากที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองที่จะต้อนรับ และเป็นเมืองที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ต้องอย่าลืมว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของเรา 80% ถ้าขาดอันนี้ไปเศรษฐกิจทุกภาคส่วนมีปัญหาหมด และยังมีต่างชาติอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยากจะมาส่งเสริมวัฒนธรรมของตนเองในพื้นนี้ ถ้าเราช่วยกันโปรโมตแบบนี้ เชื่อว่าเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก และเป็นมุมที่จะให้เกิดลองสเตย์ อย่างเป็นรูปธรรม นายฤทธีย้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง