ธุรกิจรับสร้างบ้าน : ทิศทางการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว
ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในอดีต ผู้ประกอบการหรือบริษัทรับสร้างบ้านเกือบทั้งหมด แข่งขันกระจุกตัวกันอยู่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและประชาชนในวงกว้างทั่วประเทศมากขึ้น เหตุผลหลักๆ ก็เพราะในช่วงระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านแบรนด์ชั้นนำ ได้มีการขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัดทุกภูมิภาค
พร้อมกับได้ปลุกตลาดและจุดประกายให้ผู้เล่นรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กอปรกับความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านสามารถสื่อสารเข้าถึงผู้บริโภคและขยายตลาดได้ง่ายขึ้น
การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในวงกว้างนั้น ส่งผลให้ขนาดหรือมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวตามกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็พบว่าผู้เล่นหรือผู้ประกอบการสร้างบ้านรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ประเมินว่าจำนวนผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ซึ่งมีทั้งแบบมืออาชีพและมือสมัครเล่นหลากหลายรูปแบบที่แข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้ อาจจะมีสัดส่วนมากกว่าขนาดหรือมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน ณ ปัจจุบัน จนทำให้ผู้บริโภคสับสนและไม่อาจแยกแยะได้ถึงความแตกต่าง ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการแข่งขันที่ดุเดือด เกิดการแข่งขันตัดราคากันรุนแรง ความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานการให้บริการปรับลดลง สุดท้ายกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน
ดังนั้น หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งรายเดิมและรายใหม่ยังไม่ปรับตัว และหันมาเน้นแข่งขันในเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิเช่น ดีไซน์แบบบ้าน กระบวนการให้บริการก่อนและหลังการขาย กระบวนการก่อสร้างบ้านที่ดีมีคุณภาพ ฯลฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการสร้างบ้านภายใต้แบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภค สุดท้ายแล้วภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านก็คงไม่แตกต่างกับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปในสายตาของผู้บริโภค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นิยามรับสร้างบ้าน : อดีตและปัจจุบัน
“เกิดง่าย โตยาก ตายช้า” คำนิยามของธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่สะท้อนได้จากภาพของบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำในกลุ่ม Top 5 ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ตัวเอง ในความเป็นมืออาชีพและเชื่อถือได้ไม่น้อยกว่า 20-30 ปีขึ้นไป บริษัทชั้นนำเหล่านี้ถึงจะได้สัมผัสกับความสำเร็จ ทั้งในแง่ชื่อเสียงและผลกำไรแบบที่เรียกว่า “น้ำซึมบ่อทราย” ในขณะที่การเข้ามาในธุรกิจนี้ของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ อาจไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ซึ่งมักเข้าใจว่าธุรกิจรับสร้างบ้านมีกำไรสูง เติบโตได้ง่าย ๆ แข่งขันกันด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหรือใช้การโฆษณา การลดราคา และการขยายสาขาเพื่อเจาะเข้าถึงผู้บริโภคในหลาย ๆ พื้นที่ก็สามารถแจ้งเกิดและเติบโตได้ง่าย ๆ
ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ใช้วิธีแข่งขันราคาต่ำหรือตัดราคาคู่แข่ง เน้นการทำยอดขายและมีปริมาณงานก่อสร้างมาก ๆ เอาไว้ก่อน สำหรับเป็นใบเบิกทางและหวังแจ้งเกิดในธุรกิจนี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในระยะปีแรก ๆ ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะมีลูกค้ามาใช้บริการและมีบ้านเริ่มทำการก่อสร้างจำนวนมาก มีเงินสดหมุนเวียนในบัญชีก้อนโต แม้จะเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่นาน
แต่เมื่อ 2-3 ปีผ่านไปก็จะพบกับปัญหารุมเร้า ทั้งด้านการเงินและงานก่อสร้างบ้านที่มีจำนวนมากเกินขีดความสามารถ ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้า อาทิเช่น ปัญหาแรงงานขาดแคลนและไร้ฝีมือ ปัญหาคุณภาพงานก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาบ้านไม่แล้วเสร็จตามแผนและสัญญารับจ้าง ปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง ฯลฯ ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายธุรกิจไปต่อไม่ได้ และบางรายเกิดข้อพิพาทและฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าของบ้าน
ภาพเหล่านี้ เกิดขึ้นวนไปวนมาในแวดวงธุรกิจรับสร้างบ้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษ และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้บริการด้วยเช่นกัน เมื่อตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลราคาต่ำที่สุด โดยขาดการศึกษาความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการ รายละเอียดคุณภาพและบริการรายนั้น ๆ อย่างรอบคอบ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจบลงด้วยการจ่ายเงินแล้ว บ้านสร้างไม่เสร็จ บ้านรั่วบ้านร้าว บ้านที่ใช้วัสดุไม่มีคุณภาพ และงบบานปลาย ฯลฯ และเชื่อว่าภาพเหล่านี้ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นไปอีกนาน ตราบใดที่ผู้ประกอบการที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพยังเข้าสู่ธุรกิจนี้โดยง่าย”
ชี้แนะผู้บริโภค
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) กล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจเสรี ที่ยังไม่มีการจำกัดหรือควบคุมใด ๆ อย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนที่มีการรวมตัวกันในนามชมรมหรือสมาคม ก็ไม่อาจควบคุมกันได้โดยเฉพาะในเรื่องข้อพิพาท ด้วยเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ชมรมหรือสมาคมกระทำได้เพียงแค่รับเรื่องร้องเรียนหรือไกล่เกลี่ย
หากตกลงกันไม่ได้และผู้บริโภคต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง ชมรมหรือสมาคมก็ไม่มีความเกี่ยวพันด้วยเพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกมีปัญหากับผู้บริโภคและเป็นฝ่ายผิดเอง สมาคมหรือชมรมอาจทำได้เพียงคัดชื่อออก ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรช่วยเหลือตัวเองเป็นดีที่สุด ด้วยการศึกษาหาข้อมูล ประวัติความเป็นมา ผลงาน และประสบการณ์ของบริษัทรับสร้างบ้านที่สนใจใช้บริการก่อนจะเลือกตัดสินใจ เพื่อพิจารณาว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด จะได้ไม่ต้องประสบกับปัญหาถูกทิ้งงาน บ้านไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน งบบานปลาย ฯลฯ
สำหรับ ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือจริง ๆ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องอ้างชื่อหน่วยงานใดมารับรองความน่าเชื่อถือแทน ตัวผู้ประกอบการควรมีความน่าเชื่อถือในตัวเอง เปิดเผยตัวตนเจ้าของและผู้บริหารเป็นใคร มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร มีผลงานที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด ตัวอย่างลูกค้าที่เคยใช้บริการและความประทับใจมีใครบ้าง ฯลฯ ที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้ประกอบการสร้างบ้านจำนวนไม่น้อยไม่เปิดเผยตัวตน ระบุไว้เพียงแค่วิสัยทัศน์และพันธกิจสั้น ๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ ความเป็นบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพที่แท้จริง ดีไซน์แบบบ้าน มาตรฐานวัสดุก่อสร้างที่ใช้สร้างบ้าน รายละเอียดการให้บริการก่อนและหลังการขายก็เป็นสิ่งที่ควรระบุ หรือเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างชัดเจน เพื่อจะได้ศึกษาและเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ ผู้ประกอบการไม่ควรใช้วิธีลอกเลียนแบบบ้านของรายอื่น ๆ เพราะถือว่าผิดจรรยาบรรณและกฎหมายลิขสิทธิ์ รวมทั้งสะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ
แนวโน้มและทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปี 64
นายกสมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านทั่วประเทศปี 2564 นี้ ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน อันเป็นผลพวงมาจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ถดถอยและยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและประชาชนที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้บ้านหรือที่อยู่อาศัยจัดเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูง
หากแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน กำลังซื้อผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็จะชะลอการลงทุนหรือใช้จ่ายเอาไว้ก่อน ยกเว้นกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะดีและมีเงินออมสูงอาจไม่กังวลกับการใช้จ่ายมากนัก นอกจากนี้ สถาบันการเงินหรือธนาคารก็มีความเข้มงวดอย่างมาก สำหรับการพิจารณาคุณสมบัติผู้ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลผู้จะขอกู้ยืมเงินสร้างบ้านและการอนุมัติของธนาคารลดลงมากกว่า 50% ในปีที่แล้วและช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19
ทั้งนี้ ความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคที่หดตัวในปี 2564 นี้ “สิทธิพร” มองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านก็หนีไม่พ้นได้รับผลกระทบและชะลอตัวตามกัน ซึ่งดูจะสวนทางกับมุมมองของบางหน่วยงานและผู้ประกอบการบางราย ที่เชื่อว่ามูลค่าตลาดรับสร้างบ้านปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ควรติดตามและประเมินสถานการณ์ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อจะปรับกลยุทธ์แข่งขันให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านที่แท้จริง