thansettakij
ทายาท อจ.รังสรรค์ สถาปนิกชื่อดัง  โต้ ขายตึก"สาทร ยูนีค ทาวน์เวอร์" 4,000ล้าน ไม่เป็นความจริงหลังแผ่นดินไหว

ทายาท อจ.รังสรรค์ สถาปนิกชื่อดัง โต้ ขายตึก"สาทร ยูนีค ทาวน์เวอร์" 4,000ล้าน ไม่เป็นความจริงหลังแผ่นดินไหว

02 เม.ย. 2568 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 11:20 น.

ทายาท อจ.รังสรรค์ สถาปนิกชื่อดัง และครอบครัว โต้ ยัน ขายตึกสาทรยูนีค ทาวน์เวอร์ 4,000ล้านบาทตามกระแสแผ่นดินไหว ไม่เป็นความจริงเหตุอยู่ในคดีความ

 

จากเหตุแผ่นดินไหวส่งผลกระทบหลายอาคารในเขตกรุงเทพมหานครเป็นวงกว้าง คนอยู่ตึกสูง คอนโดมิเนียมประกาศทิ้ง ราคาถูกและหันไปซื้อบ้านแนวราบ  ส่งผลให้ ตึกร้างสาทร ยูนีค ทาวน์ เวอร์ บนถนนเจริญกรุง  ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดัง ขายในราคา4,000ล้านบาท

"ฐานเศรษฐกิจ"สอบถามไปยังครอบครัว อาจารย์รังสรรค์ ได้รับคำตอบสั้นๆว่าไม่เป็นความจริง เพราะโครงการยังติดปัญหาการฟ้องร้องคดีมากมาย 

 เช่นเดียวกับทายาท อาจารย์รังสรรค์  “Tampote Torsuwan” โฟสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 เมษายน ว่า มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่ยืนยันว่า เรื่องประกาศขาย ตึกสาทร ยูนิค ทาวน์เวอร์  คุณพ่อ(อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) ไม่ได้เป็นผู้ประกาศขาย โดยตึกนี้มีข้อพิพาทและคดีความมากมายหลายอย่าง

สาทร ยูนิค ทาวน์เวอร์ สาทร ยูนิค ทาวน์เวอร์

โดยมีกระบวนการทางกฎหมายที่ฉ้อฉลยึดทรัพย์ภาคเอกชนผ่องถ่ายไปองค์กรข้ามชาติแล้วฟอกทรัพย์กลับมาเข้ามือกลุ่มทุนสามานที่เป็น deep stage ของประเทศนี้ คุณพ่อและคุณแม่ต่อสู้กับกระบวนการฉ้อฉลปล้นชาตินี้มายาวนานร่วม 30ปี Fact ที่หลายคนอาจไม่รู้ ห้องชุดในตึกนี้ได้ขายไปแล้วมากกว่า 90%ตั้งแต่เปิดขายเมื่อ30กว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามกลุ่มทุนดังกล่าวไม่ได้ปล้นเฉพาะDeveloper แต่ปล้นคนซื้อทุกคนโอนถ่ายทรัพย์ไปมาเพื่อเขย่าให้ตึกนี้กลายเป็นตึกเปล่าที่ยังไม่มีใครซื้อ โดยซื้อถูก-ฟอกขาว-เขย่าให้เป็นตึกเปล่า

"นี่คือสิ่งที่ทุนสามานทำกับทุกตึกทุกอาคารที่โดนโยนลงหม้อต้มยำกุ้งเรื่องราวการต่อสู้ของท่านทั้ง2 ยังคงดำเนินอยู่ และผมเชื่อว่าจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ท่านยังมีลมหายใจอยู่การประกาศขายไม่ได้มาจากคุณพ่อ และท่านไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับใครเกี่ยวกับตึกนี้ในการขาย ช่วงระยะหลังท่านสุขภาพไม่ค่อยดี ท่านพักผ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ครับโปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว ถ้าปัญหาตึกนี้มันจบง่าย มันคงไม่ยืนเป็นอนุสาวรีย์ต้มยำกุ้งมานาน"

 

ในมุมของนักวิเคราะห์ นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า   กรณีมีกระแส ขายตึก สาทร ยูนีค ทาวน์เวอร์ 4,000 ล้านบาท มองว่า การซื้อขายระดับนี้ไม่น่าปล่อยให้นายหน้ามาประกาศ เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเจอกรณีแบบนี้

สอดคล้อง กับ นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การขายตึกสาทรยูนีค ฯไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งต้องดูคดีว่าจบแล้วหรือยัง และไม่ทราบแน่ชัดใครเป็นผู้ขาย 

มากไปกว่านั้นกระแสข่าวการขาย สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ ในราคา 4,000 ล้านบาท นั้น มูลค่าของโครงการนี้จำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งและศักยภาพในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ย่าน สาทร เป็นทำเลที่มีมูลค่าสูงในกรุงเทพมหานคร

ด้วยการเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญ และมีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งธุรกิจหลักและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความต้องการในพื้นที่ทั้งจากกลุ่มลูกค้าในด้านที่อยู่อาศัย โรงแรมระดับลักชูรี่ และสำนักงาน โดยทำเลนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันราคาที่ดินในย่าน สาทร มีการเสนอขายที่ราคามากกว่า 1,500,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งเมื่อคำนวณจากพื้นที่ 3.19 ไร่ (1,276 ตารางวา) จะพบว่าราคาขาย 4,000 ล้านบาท ไม่เพียงแต่ครอบคลุมมูลค่าของที่ดิน แต่ยังรวมถึงต้นทุนการก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์อีกด้วย

โครงการนี้ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียง และมีการรองรับมาตรฐานความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งเพิ่มความมั่นใจในด้านความแข็งแกร่งของโครงสร้างและความปลอดภัยในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมระดับบน, สำนักงาน หรือโรงแรมที่มีมูลค่าสูงเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์

การลงทุนใน สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ จึงเป็นโอกาสในการลงทุนที่มีศักยภาพในระยะยาว หากสามารถพัฒนาโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ได้ เนื่องจากราคาที่ดินในย่าน สาทร มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หรูในพื้นที่นี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

โดยเฉพาะหากโครงการสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในด้านที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ได้อย่างครบถ้วน โครงการนี้จึงถือเป็นการลงทุนที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว