เลือกตั้ง อบต.ส่อลากยาว ลุ้นหย่อนบัตร 29 ส.ค.64

17 เม.ย. 2564 | 01:15 น.

เลือกตั้ง อบต. ส่อลากยาว ลุ้นหย่อนบัตร 29 ส.ค.64 : รายงาน...หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,671 หน้า 12 วันที่ 18 - 21 เมษายน 2564

ภายหลัง “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ผ่านพ้นไปแล้ว 2 ประเภท คือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ทั้ง นายก อบจ. และสมาชิก อบจ. และ การเลือกตั้งเทศบาล ทั้ง นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล

ยังคงเหลือ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” อีก 2 ประเภทคือ การเลือกตั้งองค์การบริการส่วนตำบล และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)  และ สมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และ การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งประเภศสุดท้าย

สำหรับการ “เลือกตั้ง อบต.” ที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เมื่อผ่านพ้น “การเลือกตั้งเทศบาล” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 ไปแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน หรือหลังเดือน มิ.ย. 2564 ถึงจะมีการเลือกตั้งประเภทต่อไปเกิดขึ้นได้ 

แต่ดูแล้วก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก “ป.พิพัฒน์” เมื่อวันที่  11 เมษายน 2564 ว่า นายกิติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มาบบรรยายพิเศษให้สมาคมฯ กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมการเตรียมพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี 

ในโอกาสนี้ ตนได้นำเรียนสอบถามประเด็นที่มีข่าวว่าจะมีการกำหนดเลือกตั้ง อบต.ในเดือนสิงหาคม 2564 นั้น เป็นอย่างไร ท่านได้กรุณาชี้แจงว่า กกต.ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเลือกตั้ง อบต. เมื่อใด เพราะต้องรอคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติก่อน 

ส่วนที่มีข่าวว่า มีการประชุมอนุกรรมการ กกต.ให้เลื่อนเลือกตั้งไปปลายเดือนสิงหาคม 2564 นั้น นายกิติพงษ์ ชี้แจงว่า กกต.ไม่เคยตั้งคณะอนุ กกต. แต่หากมีน่าจะเป็นการหารือของคณะทำงานของกระทรวงมหาดไทยมากกว่า 

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า กกต.กังวลเรื่องการจัดทำข้อบัญญัติงบ ประมาณรายจ่ายประจำปีของ อบต. ด้วย หากเลือกตั้งในห้วงเวลาที่เป็นข่าวออกมา 

พร้อมกันนี้ นายกิติพงษ์ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอบต.มีจำนวนมากถึง 5,300 แห่ง จึงไม่แน่ใจว่า ครม.จะมีมติออกมาว่าอย่างไร จะให้เลือกตั้งพร้อมกันหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ เพราะการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมากว่า 2,000 แห่ง ก็มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก จึงต้องรอมติครม.ก่อน

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ระบุว่า สรุปจากการพูดคุยและการบรรยายของรองเลขาธิการ กกต. การเลือกตั้ง อบต.อาจเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือปลายเดือนสิงหาคม หรือห้วงเวลาอื่นก็อาจเป็นไปได้ และจะเลือกพร้อมกันทั้งประเทศ หรืออาจแบ่งเป็นสองช่วง หรือหลายช่วง ก็มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับมติครม.จะกำหนด

 

ก่อนหน้านั้น นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง ระบุว่า ได้มีแหล่งข่าวแจ้งมาแล้วว่า หลังสงกรานต์ครม.จะเคาะให้กกต.จัดเลือกตั้ง อบต. เป็น อปท.ประเภทถัดไปจากเทศบาล โดยกกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 3 พ.ค. 2564 ซึ่งจะส่งผลให้นายก อบต.และสมาชิกสภา อบต. ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเกือบ 8 ปี จะพ้นจากตำแหน่งในวันดังกล่าวด้วย 

 

เลือกตั้ง อบต.ส่อลากยาว ลุ้นหย่อนบัตร 29 ส.ค.64

 

ทั้งนี้ กกต.จะประสานให้ผอ.กกต. ของอบต.ทุกแห่งกำหนดวันเลือกตั้งพร้อมเพรียงกันในวันที่ 27 มิ.ย. 64 ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการกกต.ก่อนหน้านี้ว่า กกต.พร้อมจัดเลือกตั้งอบต.หลังเลือกตั้งเทศบาลแล้ว 3 เดือน (เว้นระยะห่าง ประมาณ 3 เดือน)

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมา นายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกอบต.คลองสาม จ.ปทุมธานี  กรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล นายกสมาคมองค์การบริหารท้องถิ่นประเทศ ไทย แจ้งข่าวให้นายก อบต.ทั่วประเทศ ทราบว่า กกต.ชุดเล็กประชุมวันที่ 9 เม.ย. 2564 เสนอเลื่อนเลือกตั้งจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเป็นวันที่ 27 มิ.ย. เลื่อนไปเป็น 29 ส.ค. 2564 เพราะอบต.มีจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาเตรียมการ

ขณะที่ นายพนมวัสส์ วุฒาพาณิชย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบคำถามที่ว่ามีแนวโน้ม กกต.จะเสนอ เลือกตั้ง อบต.เข้า ครม. ภายในเมษายน 2564 นี้หรือไม่ว่า สรุปตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ขั้นตอนก่อนจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง อบต. เป็นดังนี้ 

 

เลือกตั้ง อบต.ส่อลากยาว ลุ้นหย่อนบัตร 29 ส.ค.64

 

1. ต้องมีการประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยก่อน โดยมีผู้แทนของ กกต.และผู้แทนของกรม
ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในการประชุม

2. เมื่อมีการประชุมเรียบร้อยแล้วจะนำเรียนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก่อน 

3. ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก็จะส่งให้ ครม.พิจารณา

4. เมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งต่อไปที่ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเตรียมประกาศให้มีการเลือกตั้ง

5. ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งจะใช้อำนาจตามมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก อบต. และสมาชิกสภาอบต. จะต้องพ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

“สรุปต้องรอหลังสงกรานต์ว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ให้สมาชิกกลุ่มอาจารย์ทุกท่านโปรดรักษาเนื้อรักษาตัวและระมัดระวังเรื่องโควิด ที่กำลังจะระบาดรอบที่ 3 เพราะมีนายกเทศมนตรีนาอ้อ จังหวัดเลย ชนะการเลือกตั้งแต่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง  กกต.ยังไม่ทันรับรอง (มีบุญแต่ไร้วาสนา)” นายพนมวัสส์ ระบุ        

เปิดหลังสงกรานต์มา มาลุ้นกันว่า กระทรวงมหาดไทย และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีการหารือกันเพื่อให้มีการเลือกตั้ง อบต. และ จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ เมื่อไหร่ 

ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง อบต.จะเป็นไปอย่างที่แพลมๆ กันออกมาหรือไม่ อีกไม่นานได้รู้กัน... 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :