นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.โคโคนัท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอมและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอม แบรนด์ “N.C. CoCoNut” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทสนใจและเริ่มศึกษาการนำกัญชงและกัญชามาใช้ในเชิงพาณิชย์
หลังจากที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) ปลดล็อกจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร นำมาพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่น้ำมะพร้าวผสมสารสกัดจากกัญชง ในรูปแบบขวดพร้อมดื่ม โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตเพื่อวางจำหน่ายในประเทศและส่งออกในไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยขณะนี้บริษัทได้ยื่นขออนุญาตจากอย. พร้อมกับลงทุนรีโนเวทโรงงานและเพิ่มเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มไลน์ผลิต มีกำลังการผลิต 2-3 คอนเทนเนอร์ต่อวัน หรือ 4-6 หมื่นลูกต่อวัน โดยจะเริ่มผลิตทันทีที่ได้รับอนุญาต พร้อมกับวางจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ได้แก่ กรูเม่ต์มาร์เก็ต และเทสโก้ โลตัสหรือโลตัสส์ในปัจจุบัน และในอนาคตมีแผนส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีความชำนาญ
ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัว COCO BUCKET มะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มที่มาพร้อมนวัตกรรมทำให้สามารถดื่มได้สะดวก ตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และรองรับความต้องการของตลาดในช่วงซัมเมอร์ นี้ โดยเบื้องต้นมีวางจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั้งที่กรูเม่ต์มาร์เก็ต และเทสโก้โลตัส และอนาคตจะขยายตลาดส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งมีแผนขยายตลาดใหม่ๆ ไปยังประเทศไต้หวัน เกาหลีและญี่ปุ่นด้วย
“COCO BUCKET เกิดขึ้นเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเอเชียที่นิยมรับประทานมะพร้าวจากผลสด แตกต่างจากยุโรปและอเมริกาที่นิยมดื่มแบบขวด”
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่า ตลาดมะพร้าวควั่นปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก จนกลายเป็นเรดโอเชี่ยน จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีผู้ประกอบการไม่ถึง 10 ราย แต่ปัจจุบันมีมากว่า 100 ราย ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างในตลาด ซึ่งนอกจากการขายมะพร้าวควั่นแล้วยังมีวุ้นในลูกมะพร้าว และล่าสุดเป็น COCO BUCKET ซึ่งบริษัทได้จดลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบแล้ว
ทั้งนี้บริษัทเอ็นซี โคโคนัท โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปจำหน่ายในต่างประเทศกว่า 17 ล้านลูก หรือคิดเป็นยอดขายราว 300-400 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกกว่า 20 ล้านลูก เพิ่มขึ้น 20-30% โดย 80% เป็นการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ตลาดหลักได้แก่ จีน 60-70% ส่วนที่เหลือเป็นฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะที่อีก 20% เป็นการจำหน่ายในประเทศ
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจุบันจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ในการปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 1 แสนไร่ สร้างรายได้จากการส่งออกน้ำมะพร้าวหอมให้กับไทยกว่า 1 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ต่อหัวให้กับเกษตรในพื้นที่ประมาณ 30,000 บาทต่อปี และทำให้จังหวัดราชบุรีมี GDP เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นิวยอร์กเตรียมอนุญาตให้ "กัญชา" ถูกกฎหมาย
กรมส่งเสริมสหกรณ์นำร่องขายเมล็ดพันธุ์กัญชงกก.ละ 5,000 บาท
สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข. เปิดวงเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย”