ชิงนายกนครอุดรฯยืดเยื้อ อดีตนายกตุ๋งนำร้อง“ทุจริต”

17 เม.ย. 2564 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2564 | 01:34 น.

ลุ้นประกาศผลเลือกตั้งนายกนครอุดรธานีอย่างเป็นทางการของกกต.จังหวัด27 เม.ย. จะยืนตามผลนับคะแนนเบื้องต้นที่เบอร์3"ดร.ธนดร"ขึ้นนำ หรือเกมพลิกจากอดีตนายกตุ๋ง"ดร.อิทธิพนธ์"ยกทีมร้องทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง ส่องัดข้อยืดเยื้อ


ลุ้นประกาศผลเลือกตั้งนายกนครอุดรธานีอย่างเป็นทางการของกกต.จังหวัด27 เม.ย. จะยืนตามผลนับคะแนนเบื้องต้นที่เบอร์3"ดร.ธนดร"ขึ้นนำ หรือเกมพลิกจากอดีตนายกตุ๋ง"ดร.อิทธิพนธ์"ยกทีมร้องทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง ส่องัดข้อยืดเยื้อ

ผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครอุดรฯยังคาใจ ผู้สมัครสท.ทีมนครหมากแข้งชนะท่วมได้ 17 คนจากทั้งหมด 24 เก้าอี้ แต่ “อดีตนายกตุ๋ง” มีคะแนนตามหลังคู่แข่ง “ดร.ธนดร” 3,302 คะแนน นำทีมบุกกกต.จังหวัดร้องสมทบทุจริตเลือกตั้งกว่า 20 เรื่อง ลุ้นตัวโก่งผลเลือกตั้งทางการ 27 เม.ย.นี้ที่ กกต.จังหวัดจะสรุป คาดงัดข้อยืดเยื้อหวั่นกระทบงานเทศบาลฯที่ต้องบริหารงบปีละกว่า 1,500 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี เมื่อ 28 มีนาคม 2564 ส่อเค้ายึดเยื้อ เมื่อมีการร้องเรียนการทุจริตการเลือกตั้งไปยังกกต.จังหวัดจำนวนมาก ยิ่งเมื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกฯที่แพ้ในการนับคะแนนเบื้องต้น นำทีมยื่นหลักฐานเพิ่มเติม ย้ำคำร้องทั้งซื้อสิทธิขายเสียงและให้ร้ายคู่แข่ง ส่อขัดแย้งหนักแม้กกต.จังหวัดจะสรุปผลการเลือกตั้งเป็นทางการ 27 เม.ย. 2564 นี้ก็อาจไม่จบ วงการการเมืองท้องถิ่นหวั่นเกิดสุญญากาศการบริหารงานเทศบาล กระทบแผนดูแลสุขทุกข์ประชาชนที่มีเม็ดเงินบริหารจัดการปีละกว่า 1,500 ล้านบาท 

การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล(สท.)ทั่วประเทศ เมื่อ 28 มีนาคม 2564 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ที่การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับถูกระงับไว้ หลังการควบคุมอำนาจปกครองประเทศของคสช. กระทั่งเริ่มจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่อีกครั้ง เริ่มจากเลือกนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ต่อด้วยเทศบาลทั่วประเทศดังกล่าว

จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีเขตปกครอง 20 อำเภอ 156 ตำบล รวม 1,880 หมู่บ้าน. ได้จัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลทุกระดับ ประกอบด้วย  เทศบาลนคร 1 แห่ง คือ เทศบาลนครอุดรธานี  เทศบาลเมือง 3 แห่ง ได้แก่ ทม.หนองสำโรง ทม.โนนสูง-น้ำคำ อ.เมืองอุดรธานี และ ทม.บ้านดุง อ.บ้านดุง  และเทศบาลตำบล(ทต.) จำนวน 71 แห่ง 

ป้ายหาเสียง ดร.อิทธิพนธ์

หลังพ้นกำหนดสมัครรับเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีเทศบาลตำบล ที่มีผู้สมัครชิงนายกเทศมนตรีเพียงคนเดียว 5 แห่ง คือ 1.ทต.สร้างก่อ อ.กุดจับ 2.ทต.เพ็ญ อ.เพ็ญ 3.ทต.โนนทอง อ.นายูง 4.ทต.โคกสูง 5. ทต.หนองเม็ก อ.หนองหาน ซึ่งผลเลือกตั้งผู้สมัครทั้ง 5 เทศบาลตำบลดังกล่าว ได้คะแนนผ่านการเลือกตั้งตามเกณฑ์กำหนด คือมีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเกินกว่า 10 %  ของผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตเลือกตั้งนั้น จึงได้เป็นว่าที่นายกเทศมนตรีตำบลอย่างเต็มความภาคภูมิ โดยต้องรอกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 30 วันแต่อย่างใด   

แต่ที่ต้องเฝ้าจับตาของการเมืองท้องถิ่นอุดรธานีคือ การเลือกตั้งเทศบาลนครอุดรธานี ที่มี 4 เขตการเลือกตั้ง มีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี 3 คน จาก 3 กลุ่ม ที่โดดลงมาอาสารับใช้ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน ทำหน้าที่บริหารเทศบาลนครอุดรธานี ที่มีรายได้ติดอันดับหนึ่งใน 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลระดับดอกเตอร์ทั้ง 3 คน คือ 

ป้ายหาเสียงดร.ธนดร

หมายเลข 1 ดร.อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ กลุ่มนครหมากแข้ง อดีตนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ที่ครองอำนาจมากว่า 22 ปี 

หมายเลข 2 ดร.วีระวัฒน์ ไวทยานุวัตติ อดีต ผอ.กองช่างเทศบาลนครอุดรธานี  กลุ่มพลังอุดร   และ หมายเลข 3 ดร.ธนดร พุทธรักษ์ อดีตนายกสมาสคมกีฬาแห่งจังหวัดอุดรธานี กลุ่มรักษ์เมืองอุดร 

ที่ต้องจับตาเพราะ ผลการนับคะแนนเบื้องต้น ปรากฏว่า ดร.ธนดร หมายเลข 3 กลุ่มรักษ์เมืองอุดรธานี ได้คะแนน 22,386 คะแนน และผู้สมัครสท.กลุ่มรักษ์เมืองอุดร ได้รับเลือกตั้งจำนวน 7 คน ส่วนหมายเลข 1 ดร.อิทธิพนธ์ฯ อดีตนายกฯ ได้ 19,184 คะแนน ตามหลังอยู่ 3,202 คะแนน แต่ผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลฯกลุ่มนครหมากแข้ง ได้รับเลือกตั้ง 17 คน 

  ขณะที่หมายเลข 2 ดร.วีระวัฒน์ฯ ได้คะแนน  2,674 คะแนน 

  การชิงนายกนครอุดรธานีครั้งนี้ ผู้ท้าชิงมีชัยเหนืออดีตแชมป์ แต่มีเสียงในสภาเทศบาลฯน้อยกว่า ขณะที่อดีตนายกที่แพ้การนับคะแนนเบื้องต้น กุมเสียงในสภาเทศบาลนครอุดรธานีท่วมท้น 

ร้องเรียนกกต.

  ร้องเรียนกกต.

อีกทั้งปรากฏว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีคนแห่ส่งเรื่องร้องเรียน กกต.ประจำจังหวัดอุดรธานี ถึง 21 เรื่อง และมีแนวโน้มจะมีการร้องเรียนตามมาอีกจำนวนหนึ่งก่อนถึงวันที่ 27 เม.ย. 2564 ตามกรอบเวลาที่กกต.จังหวัดต้องสรุปผลการเลือกตั้งเป็นทางการ โดยระหว่างนี้เรื่องร้องเรียนทุกเรื่อง ต้องรายงานยัง กกต.กลาง เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ กกต.จังหวัด ดำเนินการต่อไป 

รวมทั้งกรณีของ ดร.อิทธิพนธ์ฯ อดีตนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ที่เคยเข้าร้องเรียนต่อ กกต.จังหวัด ก่อนหน้านี้ ว่าได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ชี้เบาะแสว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และการกล่าวให้ร้ายต่อผู้สมัคร  

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564  ดร.อิทธิพนธ์ฯพร้อมสท.กลุ่มนครหมากแข้ง ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี ทั้ง 17 คน  ยกขบวนพบกกต.จังหวัด เพื่อยื่นหลักฐานและคำให้การเพิ่มเติม โดยมีนายกฤษกา สรรพโส หัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ สนง กกต.ประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้รับ เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป 

ปรากฏการณ์รอยร้าวการเลือกตั้งนายกนครอุดรธานีที่แยกลึกนี้ ทำให้แวดวงการเมืองท้องถิ่นอุดรธานีเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง ว่าแม้กกต.จังหวัดจะสรุปผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 เม.ย.นี้แล้ว เรื่องอาจยังไม่จบ ถ้าต่างฝ่ายอาจใช้สิทธิอุทธรณ์ผลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป  และอาจกระทบไปถึงการบริหารของเทศบาลนครอุดรธานีจากนี้ หากการจะได้ผู้บริหารตัวจริงมานั่งทำงานต้องยืดเยื้อออกไป หรือแม้กระทั่งเมื่อเข้ารับตำแหน่งจริง แต่หากเป็นคนละขั้วระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาที่เสียงต่างกันลิบ งานก็ยากจะราบรื่น

รายได้เทศบาลนคร

อดีตนักการเมืองท้องถิ่นเมืองอุดรธานี กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากสัมผัส ทั้งนี้ ไม่ควรติดยึดกับอำนาจดังกล่าว จึงควรทำการเมืองไปพร้อม ๆ กับการทำธรรมะ รู้จักแบ่งแยก แบ่งปัน ก็จะไม่เกิดกิเลส การเลือกตั้งเทศบาลนครอุดรธานีก็เช่นกัน อยากเห็นทุกฝ่ายรู้จักแพ้ รู้จักชนะ  รู้จักปล่อยวาง อย่ามีการถือโทษโกรธแค้นกัน หันมาร่วมกันพัฒนาสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง 

“คนชนะได้โอกาสก็ต้องทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ของดีอยู่เดิมก็ต้องสานต่อ ที่ไม่ถูกต้องก็แก้ไขหรือยุติ หรือทำตามครรลอง อย่าใช้วิธีเล่นการเมืองจนเปรอะเปื้อน คนเก่าก็ควรเห็นแก่บ้านเมือง หันมาร่วมมือกันจะดีกว่า”

เป็นเรื่องที่ประชาชนในเทศบาลนครอุดรธานีต้องลุ้นกันต่อไป

 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง