19 เมษายน 2564 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยหลังลงนามในประกาศกรมเจ้าท่าที่ 75/2564 เรื่อง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564 และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 20)
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่อย่างเร่งด่วน โดยกรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกำหนดแนวทางในการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ดังนี้
1.ประกาศของกรมเจ้าท่าฉบับใดที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศนี้บังคับ
2.มาตรการสำหรับผู้ประกอบการเดินเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ
-พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินเรือตามความจำเป็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในการให้บริการผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564
-ควบคุมดูแลให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A โดยเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น (D-Distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (M-Mask wearing)
-ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอและทั่วถึง พร้อมควบคุมดูแลผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสารต้องทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อย ๆ (H-Hand washing)
-จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (T-Temperature) และตรวจหาเชื้อ (T-Testing) แอปพลิเคชั่นไทยชนะ และหมอชนะ (A-Application) แก่ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ก่อนลงเรือเรือโดยสาร
-ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 8/2564 เรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ และผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศนี้ อย่างเคร่งครัด
3.มาตรการสำหรับผู้ประกอบการท่าเรือ
-ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้โดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงเสี่ยงเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี
-ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่น ๆ
4.มาตรการสำหรับผู้โดยสาร
-ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางทางน้ำหรือโดยสารระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำในช่วงเวลานี้ และหลีกเลี่ยงไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
-ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่น ๆ
5.ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัดกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
6.ขอให้ผู้ประกอบเรือโดยสาร เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในเขตอำเภอเมืองในจังหวัดและส่วนภูมิภาค พิจารณาปรับลดการให้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00 – 04.00 น.
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระลอกใหม่จะคลี่คลายลง หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสทช. ย้ำโอเปอเรเตอร์ ดูแลสัญญาณ รองรับ Work from Home
"เชียงใหม่" เพิ่มโซนสีแดง 7 อำเภอ ติดโควิดมากที่สุด 1,185 ราย ที่ อ.เมืองเชียงใหม่
"สาธารณสุข" เตือนอย่าหลงเชื่อ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน
ติดโควิด 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย "บุรีรัมย์" สั่งปิดหมู่บ้านโคกสะอาด ห้ามเข้า-ออก 14 วัน