วันที่ 25 เมษายน 2564 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ที่เข้ามารับใช้ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน นอกจากบทบาทในการเป็นสถาบันการเมืองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทยร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งพบว่าสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสถานพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ป่วยทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ หลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ และเข้าไปอยู่ในความดูแลของแพทย์ในสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ของโรค ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel
พรรคจึงเห็นควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอีกทางหนึ่ง โดยเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ขึ้น จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าไปรับข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยประสานส่งต่อผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาได้โดยเร็วที่สุด
“วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ประเทศชาติก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้โดยเร็ว ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ติดเชื้อ ครอบครัว และผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน และที่สำคัญอยากขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละ อดทน ทำงานกันอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์เช่นนี้” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อช่วยผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เข้ารับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล และรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของพรรคประชาธิปัตย์ และใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของพรรค เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ในฐานะที่ตนรับผิดชอบพื้นที่ กทม. พบว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดของประเทศไทย สถิติล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย พบมีผู้ป่วยรายใหม่ 1,582 ราย รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมารวม 7,097 ราย ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสถานพยาบาลที่จะใช้รองรับผู้ป่วย รวมไปถึงรถที่จะใช้รับส่งผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน ภาคกทม. จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนผ่านกลไกของอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. ในพื้นที่ และโซเชียลมีเดียของพรรค เพื่อใช้เป็นช่องทางในการรับเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อนำมาประสานต่อไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
“เราได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดตั้งแต่ที่มีการระบาดในระลอกแรก โดยลงพื้นที่สนับสนุนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งหน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงข้าวปลาอาหาร สำหรับช่วยเหลือผู้เดือดร้อน และได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ทีมงานของพรรคก็ได้ลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม”
ด้านนางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค ในฐานะผู้รับผิดชอบโซเชียลมีเดียพรรคระบุว่า โครงการนี้พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้พี่น้องประชาชนได้มีช่องทางเพิ่มเติมในการแจ้งข้อมูลขอเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาวะของโรค เราจะไม่ทอดทิ้งให้พี่น้องประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนกันเองโดยลำพัง ไม่อยากให้ผู้ใด หรือครอบครัวไหน ๆ ต้องตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง จึงจัดให้มีกลไกการประสานงานช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 รับผิดชอบเปิดช่องการรับข้อมูลหรือเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทางทีมบุคลากรของพรรคในพื้นที่ (Offline) และสื่อสังคมออนไลน์ (Online)ของพรรคจากผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่สามารถเข้าระบบสาธารณสุขได้เพื่อส่งให้ส่วนที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบการประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อและส่งข้อมูลต่อไป ในส่วนที่ 3 คือตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงาน โดยช่องทางโซเชียลมีเดียของพรรคจะใช้ 2 ช่องทางหลักคือ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH โดยการประสานงานจะเน้นการทำงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด เพื่อส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม หรือนัดหมายและส่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไปยังสถานพยาบาลได้อย่างปลอดภัย