ประมงพื้นบ้านระยองรวมพลกว่า 400 ลำ ยื่นหนังสือร้องรัฐเยียวยา"ถมทะเล"ท่าเรือมาบตาพุด กระทบวิถีประมงพื้นบ้าน ได้รับผลกระทบหนัก จี้ใช้"แหลมฉบังโมเเดล" ชดเชยตามสัดส่วนผลกระทบจริง
วันที่ 29 เม.ย. 2564 นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน อ.เมืองระยอง จ.ระยอง พร้อมชาวประมงพื้นบ้าน พื้นที่ชายหาดเมืองระยอง 9 กลุ่ม 450 ลำ ได้นำเรือเล็กลอยลำมารวมตัวกันที่บริเวณชายหาดบ้านตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เพื่อจะร่วมกันเดินทางไปยังบริเวณหน้าท่าเทียบเรือมาบตาพุด เพื่อยื่นหนังสือแจ้งความเดือดร้อนให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามที่ได้นัดหมายไว้ แต่ถึงเวลาปรากฏว่าได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก เป็นอุปสรรคในการยื่นหนังสือ ทางด้าน นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงได้ประสานกับกลุ่มประมงพื้นบ้านว่า ฝนตกไม่สะดวกที่จะลงเรือไปรับหนังสือในทะเล จึงขอเดินทางมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่บริเวณชายหาดบ้านตากวน
ต่อมานายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ได้เดินทางมายังชายหาดบ้านตากวน โดยมี ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ นายอำเภอเมืองระยอง เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานตำรวจภูธรเมืองมาบตาพุด และหน่วยงานที่เกี่ยงข้องทางทะเล ได้เดินทางมาเป็นสักขีพยาน ในการมอบหนังสือ และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้นายศรีนวน อักษรศรี มอบหมายให้ นายอารักษ์ ศิริศรี ที่ปรึกษากลุ่มประมงพื้นบ้านระยอง เป็นผู้มอบหนังสือให้กับ นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อนำไปทบทวน และแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว มุ่งประเด็นให้ภาครัฐหาหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยให้นำแนวทางของการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นโมเดล ในการเยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง ตามสัดส่วนของความเดือดร้อน และระยะเวลาในการดำเนินการของการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด
ด้านนายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน กล่าวว่า การมารวมตัวของชาวประมงในวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทางกลุ่มประมงไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการขัดขวาง หรือประท้วงไม่ให้มีการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุดแต่อย่างใด เพียงต้องการให้ภาครัฐหันมาพิจารณา ดูแล เยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านระยอง ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากผลที่กระทบมาถึงวิถีประมงที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะให้เปลี่ยนวิถีไปทำอาชีพอื่นคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน จากปัจจัยข้อจำกัดหลายประการ สุดท้ายเพียงต้องการให้รัฐเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือ แบบเดียวกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันชาวประมงก็พอใจแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง