นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร เปิดหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะให้บริการกับประชาชนทั่วไป ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าพึงพอใจ
ทั้งนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ตั้งทีมไทยแลนด์ทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมประกาศให้ “วัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ” ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ประชาชนฉีดวัคซีนตามแผนที่กำหนด คือ ประมาณ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 นี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเปิดประเทศได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อาทิ ความปลอดภัยของวัคซีน อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิด การลงทะเบียนเพื่อจองเวลาและสถานที่ฉีดวัคซีน และแผนการกระจายการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายและตามความเร่งด่วน เป็นต้น
“ความต้องการฉีดวัคซีนของไทยขณะนี้ มีหลากหลาย บางคนอยากฉีด แต่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ บางคนยังกลัวผลกระทบจากการฉีดวัคซีน เพราะไม่เข้าใจ ได้รับข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง เราต้องร่วมมือกับภาครัฐช่วยกันสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนออกไปอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” นายกลินท์ กล่าว
ด้านดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการฉีดวัคซีนกับประชาชน ผู้ประกันตนทุกกลุ่ม และแรงงานต่างด้าวให้เร็วและมากที่สุด และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ทั้งนี้ การบริหารจัดการกับคนจำนวนมากอาจต้องใช้เวลาในการเตรียมการพอสมควร เพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตาม ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานเกินรอ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย จะเป็นด่านสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทั้งหมด ที่สำคัญคือเรื่องข้อมูลข่าวสาร ที่จะออกจากภาครัฐต้องมีความชัดเจน และต้องทำให้ได้ตามที่กำหนดไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานในระยะสั้น เช่น การยืดอายุใบอนุญาต หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อรักษาแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในระบบ 2 ล้านคน ให้คงอยู่ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องจัดเตรียมกองทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถกู้เพื่อนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตทดแทนแรงงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและลดปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยว สำหรับนำไปซ่อม สร้าง และบำรุงรักษา รองรับการท่องเที่ยวที่จะฟื้นกลับมาในระยะต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุดฉีดวัคซีนเอกชน วันที่2 ไร้ปัญหา