ขยับทีไรก็เป็นเรื่องทุกทีสำหรับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่มีเห็นต่างที่หลากหลายของทุกภาคส่วน ล่าสุดวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธาน ได้ยื่นขอขยายเวลาเพิ่มอีก 50 วัน
เพื่อศึกษาความตกลงให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของครม.ว่าจะเห็นชอบในการขอยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP ที่จะมีการประชุมในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคมนี้หรือไม่ ทั้งนี้ เรื่อง CPTPP ณ ปัจจุบันยังมีความเห็นต่างเช่นเดิม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางหอการค้าไทยฯ ตั้งแต่สมัยนายกลินท์ สารสิน เป็นประธาน ได้ย้ำมาตลอดว่าขอสนับสนุนรัฐบาลที่ต้องเร่งยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการขอเข้าร่วมการเจรจา เพราะกระบวนการของ CPTPP ตั้งแต่ขอเข้าร่วมการเจรจา ขั้นตอนการเจรจากับประเทศภาคีสมาชิก หลังจากเจรจาเสร็จต้องนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาว่าเห็นควรเข้าร่วมความตกลงหรือไม่ หากเห็นควรเข้าร่วมก็ต้องนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อนำสู่ขั้นตอนการให้สัตยาบันมีผลบังคับใช้ต่อไป
“ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี หากระหว่างทางมีอะไรที่จะแก้ไขยังทำกันได้ หากเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์เสียมากกว่าได้สำหรับประเทศก็ยังขอถอนตัวได้ แต่ถ้าเราไม่ลองเข้าไปดูจะไปรู้ได้อย่างไร”
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะมีประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะหยิบยกหารือในที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้ไทย เข้าร่วมเจรจา CPTPP
ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเตือนรัฐบาลว่า เรื่อง CPTPP เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากต้องไม่ให้ข้อตกลงระหว่างประเทศมามีผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาทุกข้อตกลงส่วนใหญ่จะมีผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อยทั้งนั้น ทำให้แข่งขันไม่ได้ และยังไม่มีรัฐบาลใดที่จะเตรียมความพร้อม
ที่ผ่านมาประโยชน์ส่วนใหญ่ของความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จะตกกับคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้รวยมากขึ้น คนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนลงอีก ดังนั้นขอให้รัฐบาลบริหารประเทศแบบมีสติและมีความรู้ สรุปก็คือรัฐไม่ควรที่จะไปยื่นใบสมัครเข้าร่วม CPTPP
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด กล่าวว่า ขณะนี้มีล็อบบี้ยิสต์พยายามให้ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดต่อข้าวสาลีสัดส่วน 3:1 มาโดยตลอด ยิ่งถ้า CPTPP เกิด พวกได้ผลประโยชน์จากการนำเข้าทั้งในและนอกระบบเตรียมรับทรัพย์กันก้อนโต จะส่งผลต่อเกษตรกรชาวไร่ชาวนาไทยยิ่งตาย
“ปัจจุบันเกาหลีซื้อข้าวโพดเข้า 10.62 บาท/กก. ขณะที่ข้าวโพดไทย ราคา 8.90-9 บาท/กก. ปัจจัยที่กดราคาข้าวโพดตอนนี้คือพ่อค้าชายแดนแจ้งว่า มีข้าวโพดจากเมียนมารอขายเข้าไทยอีกประมาณ 6 แสนตัน จากปีนี้เมียนมาได้ผลผลิต 3 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 1 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก”
อนึ่ง การค้าไทยกับกลุ่ม CPTPP ช่วง 3 เดือนแรก ปี 2564 มีมูลค่ารวม 1.09 ล้านล้านบาท ขยายเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 5.65 แสนล้านบาท และนำเข้า 5.32 แสนล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 3.2 หมื่นล้านบาท
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง