จี้รัฐเร่งหาข้อสรุปฉีดวัคซีนเด็กนักเรียน

20 พ.ค. 2564 | 06:16 น.

โควิดในเด็กผ่านมา 1 ปี มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จี้รัฐบาลเร่งหาข้อสรุปฉีดวัคซีนเด็กนักเรียน แนะต้องทำงานเชิงรุก

ทุกคนควรได้ฉีดวัคซีนโควิดโดยเร็ว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้แบบนี้ เพราะชี้ทุกชีวิตมีความหมาย เเละเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

หากยังจำกันได้กรณีพกลุ่มคลัสเตอร์โควิดในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด ที่มีเด็กเล็กติดเชื้อโควิด-19 จากครูพี่เลี้ยง โดยพบเด็กติดเชื้อ 14 ราย และอีก 2 ราย เป็นผู้ใหญ่ ใน จำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก อายุ 3-6 ปี ทั้งหมด 16 คน ทำให้ต้องตั้งโรงพยาบาลสนามภายในศูนย์เด็กเล็กดังกล่าว ครั้งนั้นสร้าง ความกังวลให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก 

ตลอดเวลา 1 ปี ที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด พบว่ามีเด็กๆ ที่ติดเชื้อโควิด ร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ แต่ถึงอย่างนั้นเด็กๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่นกัน หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาท 

นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิดจะมีอาการมากกว่าเด็กโต เพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอและช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก 

เมื่อเทียบกับข้อมูลจากกรมควบคุมโรคด้านอายุของกลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนเมษายนปี 2564 นี้ กับการระบาดระลอก 1 และระลอก 2 จะพบว่า อายุผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนนี้ มีอายุน้อยที่สุดด้วย 

แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่ากลุ่มคนวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อสูงกว่าช่วงอายุอื่นมาในทุกรอบของการระบาดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการติดเชื้อในเด็กจะไม่เกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าสภาพแวดล้อมที่เด็กจะติดเชื้อก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่  

จี้รัฐเร่งหาข้อสรุปฉีดวัคซีนเด็กนักเรียน
 

นั่นก็คือ การอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ที่มีคนรวมกัน พบปะผู้คนโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่รักษาระยะห่าง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ ก็อาจติดเชื้อได้หากไม่มีการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมและดีพอ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ก็อาจติดเชื้อจากลูกที่ป่วยได้

"ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนสำหรับมีเฉพาะไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12-15 ปี  แต่เด็กอีก 2 ช่วงก็คือ ช่วงแรกเกิด-12 ปี และ ช่วงอายุ 16-18 ปี ที่ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด 

“ตอนนี้ที่ฉีดกันอยู่เป็นวัคซีนโควิดสำหรับผู้ใหญ่ วันนี้วัคซีนให้เด็กมีแค่อายุ 12 – 15 ปี ก็คือ ไฟเซอร์ แล้วเด็กอายุ 16-18 ปีซึ่งอยู่ในระดับ ม.ปลาย ไปจนถึง นักศึกษา ปี 1 ยังไม่มีคำตอบ ขณะนี้เรามีเด็กอายุ 12-15 ปี จำนวนแค่ 3 ล้านคนของประเทศแต่ก็ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด คณะกรรมวัคซีนแห่งชาติต้องสรุปได้แล้วว่าจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้เด็กเหล่านี้ เพราะความเสี่ยงการติดเชื้อของเด็กมีมาก การป้องกันด้วยวัคซีนเป็นเรื่องที่จำเป็นและทำให้รวดเร็ว ต้องเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฉีดเด็ก 12-15 ซึ่งอยู่ชั้น ม. ต้น เราก็สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้ ส่วน ม. ปลายก็ค่อยว่ากัน เพราะเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียนสำคัญ จะทำอย่างไรที่ต้องไม่เสียโอกาสจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดและการใช้ชีวิตของนักเรียน ทั้งอยู่ที่บ้านและไปโรงเรียน ถ้าทำเบบนี้เราจะแก้ปัญหาเป็นเปราะๆ ได้”  ศ.ดร.กนก กล่าว 

ประเทศเมืองไทยเริ่มทำการฉีดวัคซีนโควิดโดยเริ่มจากผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดไล่ลงมาเรื่อยๆ แต่สำหรับเด็กจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับวัคซีนโควิด  

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เคยให้ความเห็นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เด็กและเยาวชน เมื่อป่วยหรือติดเชื้อจะมีอาการน้อย ไม่รุนแรง และวัคซีนโควิดถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งรีบ ยังไม่มีการศึกษาเรื่องการให้วัคซีนในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี การขึ้นทะเบียนจึงยังให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไปทุกชนิดของวัคซีนจนกว่าจะมีการศึกษาถึงผลการใช้ขนาดในเด็กจึงจะมีการนำมาใช้ได้ น่าจะมีข้อมูลปลายปี 2564 หรือปี 2565 

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจการฉีดวัคคซีนในเด็กแล้ว อาทิ หน่วยงานวิทยาศาสตร์สุขภาพสิงคโปร์อนุญาตให้สามารถใช้วัคซีนโควิดไฟเซอร์ในกรณีฉุกเฉินกับเด็กอายุ 12-15 ปีได้แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ (MOH) จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ (MOE) เร่งดำเนินโครงการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับกลุ่มวัยเรียน

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นตัวแรกในสิงคโปร์ที่ได้รับอนุญาตให้ฉีดในกลุ่มประชากรเด็กอายุ 12-15 ปี โดยในการประเมินของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการฉีดวัคซีนโควิด ได้พิจารณาถึงความปลอดภัย ประสิทธิภาพของวัคซีน และการออกแบบการศึกษาการทดลองทางคลินิกสำหรับกลุ่มอายุนี้

นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ อนุญาตให้สามารถใช้วัคซีนไฟเซอร์กับเด็ก ทำให้กลุ่มเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีนกว้างขึ้น โดยวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ภายใต้การอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่า 16 ปีในสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจดังกล่าวหมายความว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) กำลังอนุญาตให้เด็กอายุ 12-15 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ได้
 

แผนฉีดวัคซีนโควิด รัฐบาลมีแผนการกระจายวัคซีน 3 ช่องทาง 
1.ระบบหมอพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาเปิดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคลงทะเบียน ขณะนี้มียอดลงทะเบียนแล้ว 7.4 ล้านคน โดยเป็นการลงทะเบียนในกรุงเทพมหานครแล้วกว่า 8 แสนคน และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปอายุต่ำกว่า 60 ปี ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งข้อดีคือประชาชนสามารถเลือกวันเวลาและสถานที่ได้เอง

2.การลงทะเบียน ณ จุดบริการ หรือ On-site Registration ช่องทางนี้ปรับจากการเรียกว่า วอร์คอิน (Walk in) เป็นการลงทะเบียน ณ จุดบริการ จะมีระบบรองรับและแจ้งประชาชนเมื่อเดินทางไปลงทะเบียนว่า มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการในวันนั้นหรือไม่ หากพร้อมฉีดแต่วัคซีนไม่พอในวันนั้นก็สามารถทำการลงทะเบียนเพื่อนัดฉีดในวันอื่นได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามารอฉีดอีกในวันต่อไป แต่สามารถมาฉีดได้เลยตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ถือเป็นช่องทางนี้เป็นการบริการเสริม 

สำหรับในกรุงเทพมหานคร ทางกทม.ได้จัดให้มีการกระจายจุดบริการวัคซีนทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล และหน่วยงาน จำนวน 231 แห่งนอกจากนี้ยังได้เตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลอีก 25 แห่ง โดยเตรียมความพร้อมจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางมาสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้เปิดทดลองระบบแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ 1.เซ็นทรัลลาดพร้าว 2.สามย่านมิตรทาวน์ 3.เดอะมอลล์ บางกะปิ และ 4.บิ๊กซีบางบอน

3.สถานพยาบาล หรือ อสม. เป็นการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อสม. ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงานด้านการบิน ครู อาจารย์ ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สาธารณะ พนักงานรถไฟและรถไฟฟ้า พนักงานในโรงแรม คณะผู้แทนการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจและนักเรียน นักศึกษาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บุคลากรในโรงงาน คนพิการ พนักงานภาคบริการอาหารและยา และกลุ่มอื่น ๆ โดยสามารถติดต่อนัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. ได้โดยตรง หรือหากเป็นกลุ่มบุคคลหรือสมาคมที่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ก็สามารถยื่นเรื่องต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาจัดสรรวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่ฉีดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง