"ออมสิน"เปิดลงทะเบียนเงินกู้ "สินเชื่อสู้ภัยโควิด" ผ่านแอป MyMo รอบใหม่แล้ว

26 พ.ค. 2564 | 08:59 น.

"ธนาคารออมสิน" เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ยื่นกู้ "สินเชื่อสู้ภัยโควิด" วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10,000 ต่อราย ผ่านแอป "MyMo" รอบใหม่วันที่ 26 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 16.00 น. พร้อมแจ้งผลผู้ที่ยื่นกู้ไว้แล้วทราบ

วันนี้ 26 พ.ค. 2564 เวลา 16.00 น. ธนาคารออมสิน  จะเปิดให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีจำนวนกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ ลงทะเบียนรอบใหม่เพื่อรับสิทธิ์การยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัยโควิด ผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo ได้อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารฯ ได้แจ้งปิดระบบกดรับสิทธิ์ขอกู้สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ผ่านแอป MyMo ไว้ชั่วคราว 

\"ออมสิน\"เปิดลงทะเบียนเงินกู้ \"สินเชื่อสู้ภัยโควิด\" ผ่านแอป MyMo รอบใหม่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ใครบ้างมีสิทธิขอสินเชื่อสู้ภัยโควิด?

  • ผู้มีรายได้ประจำ
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร
  • มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป
  • ไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ

วงเงินกู้ ดอกเบี้ย ระยะเวลากู้ สินเชื่อสู้ภัยโควิด เป็นอย่างไร?

  • วงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย
  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือน
  • ระยะเวลาคืนเงินกู้ ไม่เกิน 3 ปี
  • ปลอดชำระเงินต้อนแลดอกเบี้ย 6 งวดแรก

ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิ์ยื่นกู้ สินเชื่อสู้ภัยโควิด

  • ขั้นตอนที่ 1 ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ผ่านแอป MyMo โดยระบบจะกำหนดวันที่นัดหมายให้ผู้ลงทะเบียนล็อกอินเข้าแอปเพื่อกดยื่นขอกู้อีกครั้ง 
  • ขั้นตอนที่ 2 กดยื่นขอกู้ผ่านแอป MyMo ตามกำหนดวันที่นัดหมาย 

ทั้งนี้ ระบบจะจัดสรรวันและช่วงเวลานัดหมายให้กดยื่นขอกู้ได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 พ.ค. 64 กำหนดโควต้าวันละ 1 แสนราย ตามลำดับการลงทะเบียนสำเร็จ เพื่อป้องกันความแออัดและลดข้อจำกัดกรณีมีผู้ล็อกอินเข้าทำธุรกรรมพร้อมกันเป็นจำนวนมาก 

ผู้ที่ยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัยโควิด ไว้แล้ว ตรวจสอบผลได้เมื่อไหร่?

  • ผู้ที่ยื่นขอกู้ไว้แล้วและอยู่ระหว่างรอผล ธนาคารจะแจ้งผลทาง SMS และ MyMo ภายในวันที่ 26 พ.ค. 64 
  • ผู้ที่ทราบผลว่าได้รับอนุมัติ แต่ยังไม่ได้ทำสัญญา ให้เข้า MyMo เพื่อกดทำสัญญาเงินกู้ (Digital Contract) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 64 เป็นต้นไป เพื่อดำเนินการอนุมัติคำขอคงค้างซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่าแสนรายการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society

ที่มา: ธนาคารออมสิน