นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ทำโครงการโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” จนมาถึงLot ที่11 (Food Delivery) โดยครั้งนี้เป็นการเน้นในกลุ่มอาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งกระทรวงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกันให้ความช่วยเหลือร้านอาหาร ร่วมกับแพลตฟอร์มทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการ Food Delivery และตัวแทนร้านอาหารทั่วประเทศ เช่น สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด สมาคมร้านอาหารและบันเทิงเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เป็นต้น และผู้แทนสถาบันการเงิน 6 สถาบัน 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลาม 5.ธ.ก.ส. และ6. บสย.
โดยมี 2 ประเด็น เพื่อช่วยสนับสนุนร้านอาหารในภาวะวิกฤตโควิด ประเด็นที่ 1 จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot 11 เพื่อช่วยเหลือบุคคล และ2 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์ม 2.กลุ่มผู้บริโภคซึ่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
โดยสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารจะมีการลดค่า GP ที่แพลตฟอร์มคิดกับร้านอาหารจากเฉลี่ย 35% -25% ลงมาเหลือ 25%ซึ่งมีแพลตฟอร์มที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม 1.Robinhood 2. foodpanda 3.Grab 4.Gojek และ 5.Lineman ลดค่า GP เหลือ 25% ในภาพรวม ยกเว้น Robinhood ไม่คิดค่า GP และ foodpanda ไม่คิดค่า GP สำหรับร้านใหม่
สำหรับผู้บริโภคมี 2 ส่วน 1.ลดราคาอาหารที่ขายผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์มสูงสุด 60% และจะลดค่าขนส่ง 4 แพลตฟอร์ม ใน 3-5 กิโลเมตรแรก ลดสูงสุดจาก 40 บาทเหลือ 0 บาท ประกอบด้วย 1.Robinhood 2.foodpanda 3.Grab และ 4.Gojek ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับค่า GP ส่วนค่าอาหารจะลดทั่วประเทศ
ส่วนประเด็นที่ 2 คือจัดโครงการแมตช์ชิ่งเงินกู้ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นตัวกลางช่วยร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี ได้รับความร่วมมือจาก 6 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 5.ธ.ก.ส. และ 6.บสย. มีการจัด 2 กิจกรรม 1.ให้สถาบันการเงินให้ข้อมูลกับร้านอาหารที่สนใจเข้าถึงแหล่งเงินกู้วันที่ 1-6 มิถุนายน 2564ในรูปแบบออนไลน์ และต่างจังหวัดจะให้พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ร้านอาหารที่สนใจสอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงิน 2.จะมีการจับแมตช์ชิ่งให้ยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงินตามเงื่อนไขทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ในวันที่ 7-20 มิถุนายน 2564
เพื่อช่วยให้ร้านอาหารในช่วงวิกฤติโควิดได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี โดยร้านอาหารที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จดทะเบียนไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นนิติบุคคล 15,967 ร้าน และบุคคลธรรมดา 103,000 ร้าน รวมแล้ว 118,967 ร้าน โดยผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจะสูญเสียรายได้ 250-350 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง